Mobile Office แนวโน้มรูปแบบการทำงานใหม่ เปลี่ยนทุกที่เป็นที่ทำงาน ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กร

2 ความเห็น


ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอุปกรณ์และเครือข่ายการสื่อสาร ที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพจากที่ไหนมุมไหนเวลาไหนก็ได้ ทำให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบใหม่ในยุคดิจิตอลที่คนทำงานสามารถติดต่อสื่อสารกัน ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รูปแบบการทำงานแบบนี้เริ่มเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นในประเทศที่มีโครงข่ายการสื่อสารที่พร้อมที่จะให้คนทำงานสามารถที่ไหน อย่างไร ได้ทุกที่ทุกเวลา

บริษัทสื่อสารทางเสียงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตชื่อดังอย่าง Skype เองได้จัดทำสำรวจแนวโน้มของการทำงานที่บ้านจากคนทำงานกว่า 1,000 คนจาก 500 บริษัทในทุกขนาดในอเมริกา พบว่า การทำงานจากนอกที่ทำงานหรือทำงานจากที่บ้านมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนจะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมการทำงานในต่างประเทศแล้ว ตัวเลขเชิงสถิติจากผลการสำรวจมีความน่าสนใจซึ่งสะท้อนแนวโน้วรูปแบบการทำงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี การสำรวจพบว่ามากกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของ 500 บริษัทได้มีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ ในขณะที่ราว 34 เปอร์เซ็นต์ได้เริ่มให้พนักงานทำงานจากข้างนอกออฟฟิศบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งการให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านหรือจากที่ไหนก็ได้นอกที่ทำงานนั้นมีส่วนทำให้พนักงานมีความสามารถในการทำงานเพิ่มขึ้น

“อาร์เอส” ริเริ่ม Mobile Office:

ปัจจุบันมีหลายบริษัทในประเทศไทยที่เริ่มให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือจากที่ไหน ก็ได้นอกที่ทำงาน อาทิ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ให้ทีมงานด้าน Strategic Innovation Business ของบริษัทสามารถทำงานที่บ้านหรือนอกออฟฟิศได้ ซึ่งทีมงาน Strategic Innovation Business ของบริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) ทั้ง 3 คนมักจะนัดพบกันตามร้านกาแฟเพื่อระชุมหารือความคืบหน้าของงาน และเตรียมข้อมูลเพื่อนเข้าประชุมกับ “เฮียฮ้อ” คุณสุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์ ซีอีโอแห่งอาร์เอส และการประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ภายในอาร์เอส

เนื่องจากหน่วยงาน Strategic Innovation Business เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือนสมองของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ทำงานด้านวิจัยและจับจ้องเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมที่จะเข้ามาเสริมธุรกิจบันเทิงของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล รองประธานสายงาน Strategic Innovation Business บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หน้าที่หลักของเขาและทีมงานคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์และสรรหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการเกื้อหนุนของเทคโนโลยีและวิธีการคิดแบบใหม่ๆ ดังนั้นการนั่งทำงานภายในห้องสี่เหลี่ยม หรือการต้องเดินทางเพื่อไปทำงานในตอนเช้าและกลับบ้านในตอนเย็นร่วมเวลากับพนักงานคนอื่นๆ ไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานทีมนี้ ซึ่งวัดผลงานที่ผลของเนื้อหางานมากกว่าจำนวนชั่วโมงที่เข้ามานั่งทำงานที่ที่ทำงาน

อาทิตย์มักจะใช้ร้านกาแฟ ที่มีบริการอินเทอร์เน็ตเป็นที่นัดประชุมและคุยงานกับทีมเป็นประจำทุกสัปดาห์ ส่วนวันอื่นอาทิตย์กับทีมงานจะทำงานอยู่ที่บ้าน เว้นแต่ในบางสัปดาห์ที่อาทิตย์ต้องเตรียมงานและข้อมูลเพื่อเข้าประชุมกับผู้บริหารเพื่อนำเสนอแนวความคิดและองค์ความรู้ใหม่ๆ สัปดาห์นั้นอาทิตย์และทีมจะนัดพบกันบ่อยมากขึ้น โดยปกติ อาทิตย์และทีมงานจะมีอุปกรณ์ในการทำงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท อันได้แก่ อุปกรณ์แท็ปเล็ต (Tablet) ที่ทั้งทีมใช้อยู่คือ iPad ที่ลงแอพพลิเคชั่นสำหรับการ ทำงานไว้พร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็น Pages สำหรับงานเอกสาร Keynote สำหรับงานพรีเซนเตชั่น และ Numbers สำหรับงานด้านตัวเลข เป็นต้น รวมถึงแอพพลิเคชั่นที่เป็นคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ที่อาทิตย์ใช้อยู่เป็นประจำคือ Google Apps อาทิ Gmail และ Google Docs รวมถึง แอพพลิเคชั่นที่เป็นคลาวด์อื่นๆ อาทิ Dropbox เป็นต้น

“เราแทบไม่ต้องพกพาอุปกรณ์การทำงานที่เทอะทะ มากมาย เพียงแต่ iPad 3G และ iPhone 4 และหาที่นั่งทำงานที่มีอินเทอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) ให้บริการเท่านั้นทุกอย่างก็อยู่ในมือเรา เราสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา การทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศมีประโยชน์มากสำหรับงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ คนจะทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุดตอนที่เขาอยู่ในสภาวะที่สบายๆ การทำงานที่ไหนก็ได้เป็นรูปแบบการทำงานที่เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานมากกว่าการที่ต้องเดินทางเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศมากไฟล์งานทุกอย่างจะอยู่ในเครื่อง iPad และเก็บไว้บนระบบคลาวด์ ซึ่งอาทิตย์สามารถเก็บและแชร์ไฟล์รวมถึงข้อมูลต่างๆ กับทีมงานตนและกับคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้สะดวกและง่ายดายมาก”

อาทิตย์เชื่อว่ารูปแบบการทำงานแบบ mobile office คือ ทำงานที่ไหนก็ได้นั้นจะเริ่มมีปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้นในเมืองไทย เพราะความพร้อมมากขึ้นของโครงข่ายสื่อสารอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้ง WiFi และ 3G  ประกอบกับอุปกรณ์ที่สามารถพกพาได้ง่ายและเปี่ยมประสิทธิภาพในการทำงานสูงเริ่มมีใช้แพร่หลาย และราคาไม่แพงมาก รวมถึงการที่มีแอพพลิเคชั่นที่สามารถตอบโจทย์การทำงานแบบ mobile office และเอื้อให้การทำงานที่ไหนก็ได้เป็นไปได้ง่ายและสะดวกขึ้น สำหรับตัวเขาเองและทีมงานได้เริ่มทำงานในรูปแบบ mobile office มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี อาทิตย์มองว่า สิ่งสำคัญของรูปแบบการทำงานแบบนี้ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มอยู่ในขณะนี้นั้น จะสามารถนำมาปรับใช้ได้ไม่กับทุกหน่วยงานในแต่ธุรกิจ และบริษัทที่อนุญาตให้มีการทำงานแบบ mobile office ได้นั้นบริษัทจะต้องมีระบบการประเมินผลงานที่ตัวเนื้องานมากกว่าจำนวนชั่วโมงที่พนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศ และตัวคนทำงานเองจะต้องปรับวิธีคิดและรูปแบบการทำงานให้สามารถ ทำงานแบบ Dynamic ได้ นั่นคือ ต้องทำงานได้ทำที่ทุกเวลา ทุกแอพพลิเคชั่น และต้องสามารถทำงานหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน (multitasking workers)

“นอกจากเรื่องทักษะในการทำงานแบบหลายชนิดในเวลาเดียวกันพร้อมๆกันได้แล้ว คนทำงานในรูปแบบ mobile office นั้นจะต้องมีวินัยในการทำงานสูงและต้องรู้จักการบริหารเวลาที่ดีมากพอ เพราะการทำงานแบนี้จะใช้ผลงานที่ได้เป็นตัวชี้วัดสำคัญ” อาทิตย์กล่าวทิ้งท้าย

ผู้บริหาร “อเด็คโก้” ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา:

นอกจาก บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) แล้ว ยังมีบริษัท อเด็คโก้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทจัดหางานอันดับต้นๆ ของเมืองไทยเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีโนบายให้พนักงานระดับผู้บริหารสามารถทำงานจากที่บ้านหรือจากนอก ที่ทำงานได้ บริษัท อเด็คโก้ (ประเทศไทย) จำกัด มีพนักงานราว 200 คน ซึ่งเป็นระดับผู้จัดการ 10 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถทำงานแบบ mobile office ได้และ กานดา สุภาวศิน E-Business Development Manager บริษัท อเด็คโก้(ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในพนักงานจำนวนนั้น เธอเล่าว่า ด้วยหน้าที่การงานที่เธอต้องรับผิดชอบในส่วนงานด้านการสมัครงานออนไลน์/ดูแลผู้สมัคร งาน/ลูกค้า ทั้งระบบ Back Office และ Front Office และดูแลส่วน Online Marketing/SEO/Social Media ของบริษัทร่วมกับ Marketing Team ทำให้เธอต้องเดินทางบ่อยและต้องทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานการณ์

กานดา เล่าว่า บริษัทของเธอมีนโยบายให้พนักงานระดับผู้จัดการสามารถทำงานแบบ work from home หรือ ทำงานแบบ mobile office ได้ ด้วยระบบของบริษัทที่เชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารของสำนักงานสาขาทั้ง 6 แห่งในประเทศไทย (รวมสำนักงานใหญ่) ที่เปิดโอกาสให้ผู้จัดการสามารถเข้าระบบงานของบริษัทได้จากข้างนอกออฟฟิศผ่านระบบโครงข่ายส่วนตัวเสมือนหรือ VPN (Virtual Private Network) ทำให้กานดามมีความยืดหยุ่นในการทำงานสูงมาก เพราะเธอสามารถจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านกาแฟ ร้านเบเกอร์รี่ร้านโปรด หรือมุมสบายๆ ในที่ทำงานของเธอเอง

“ด้วยลักษณะงานที่ต้องเดินทาง ติดต่อสื่อสารประสานงานกับทีมงานตามที่ต่างๆ และตามสาขาต่างๆ ของบริษัทอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราต้องฝึกการทำงานแบบที่ไหน เมื่อไร ก็ทำงานได้ และเราจะสามารถทำงานหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันได้ ซึ่งปัจจุบันปัจจัยต่างๆ มีความพร้อมและช่วยเสริมให้การทำงานแบบ mobile office เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ปัจจุบัน อุปกรณ์ในการทำงานหลักของกานดา คือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค กับโทรศัพท์มือถือ iPhone 4 ที่เธอมักจะพกไว้ข้างกายตลอดเวลา เธอบอกว่าเธอใช้ทุกช่องทางการสื่อสารเพื่อติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับทีมงานของเธอ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ หรือแอพพลิเคชั่นสื่อสารยอดนิยมอย่าง Skype, WhatsApp และ Viber ที่เธอมักจะใช้เป็นประจำ นอกเหนือไปจากการใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเพื่อเข้าระบบงานของเธอที่ออฟฟิศผ่านเทคโนโลยี virtual desktop นอกเหนือไปจากแอพพลิเคชั่นที่กล่าวมาแล้ว กานดายังประยุกต์ใช้สื่อเครือข่ายสังคม (Social Network) อย่าง ทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นช่องทางสื่อสารกับทีมงานช่องทางหนึ่ง และใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับสังคมออนไลน์และใช้เพื่อติดตามข่าวสาร

“เนื่องจากต้องดูแลทั้งประเทศไทยและเวียดนาม จึงต้อติดต่อสื่อสารข้ามประเทศ อยู่เป็นประจำ ซึ่งนโยบายบริษัทให้เราใช้ Skype ได้ เราก็จะประชุมงานกันผ่าน Skype เป็นประจำ และเมื่อต้องเดินทางไปเวียดนาม อุปกรณ์ทำงานของเราทั้ง คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค กับโทรศัพท์มือถือ iPhone 4 ก็สามารถช่วยให้เราทำงานแบบไร้รอยต่อ คือ ทำงานเหมือนกับอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะเราสามารถเข้าระบบงานของเราที่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา เพราะที่นั่นเขามีเครือข่าย 3G ให้ใช้ฟรีตามร้านค้า ร้านอาหาร และสองข้างถนน สะดวกสบายมาก”

กานดาบอกว่า โดยส่วนตัวมองว่าแม้ว่าการทำงานแบบ mobile office จะไม่สามารถเข้ามาแทนที่การทำงานทั้งหมดของเธอได้ เพราะเธอยังคงต้องเข้าที่ออฟฟิศเพื่อประชุมงานอยู่เป็นประจำ แต่เธอก็ยอมรับว่าการทำงานในลักษณะแบบนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารเวลาในการทำงาน และช่วยลดต้นทุนการสื่อสาร ลดต้นทุนค่าเดินทางเพื่อจะไปประชุมลงไปได้มาก เธอเชื่อว่ารูปแบบการทำงานแบบ mobile office จะมีให้เห็นมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นกับนโยบายของแต่ละบริษัทด้วย ซึ่งเธอมองว่าไม่ใช่ทุกหน้าที่การงานสามารถทำงานแบบ mobile office ได้ งานบางอย่าง อาทิ งานด้านบัญชี อาจจะต้องเข้ามาทำงานประจำที่ที่ออฟฟิศ

“การทำงานแบบ mobile office นั้นจะให้ประสบความสำเร็จและได้ระสิทธิภาพ บริษัทจะต้องให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานด้วย อาทิ การให้พนักงานสามารถเข้าระบบข้อมูล ได้จากที่ไหนก็ได้ การสนับสนุนอุปกรณ์ และต้นทุนการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งการทำงานแบบ mobile office เอาเข้าจริงๆ แล้ว พนักงานที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้วจะยิ่งทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเขาจะทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง เขาจะทำงานทุกที ทุกเวลา แบบไม่มันหยุด เพราะเขาจะทำงานเหมือนไม่ได้ทำงาน และจะทำงานได้หลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน”

กานดาเสริมว่า อยากให้องค์กรธุรกิจมองไปที่รูปแบบการทำงานแบบ mobile office มากขึ้น และควรจะสนับสนุนการทำงานแบบ mobile office ของพนักงาน ด้วยการสนับสนุนค่าอุปกรณ์และค่าค่าสื่อสาร ลงทุนระบบงานของบริษัทให้พนักงานสามารถเข้าผ่านอินเทอร์เน็ตจากที่ไหนเข้ามาทำงานก็ได้ เพราะในระยะยาวแล้ว ถือว่าเป็นการประหยัดต้นทุน เพราะพนักงานไม่ต้องเข้านั่งมาทำงานที่บริษัท บริษัทสามารถลดขนาดพื้นที่ ลดจำนวนอุปกรณ์ตั้งโต๊ะ ลดปริมาณการใช้พลังงานลงได้มาก

“การทำงานในสภาวะที่ผ่อนคลายจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น แต่คนที่จะสามารถทำงานแบบ mobile office จะต้องสามารถบริหารเวลา และควบคุมดูแลตนองให้ทำงานได้ดีด้วย” กานดากล่าวทิ้งท้าย

Google Apps + Cloud ปัจจัยเร่ง Mobile Office:

แนวโน้มรูปแบบการทำงานแบบ mobile office นั้นกำลังเป็นที่นิยมและเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย ด้วยความพร้อมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความครอบคลุมมากขึ้น กอปรกับสภาพการจราจรที่แออัดทำให้หลายองค์กรเริ่มหันมาทดลองให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ

พรทิพย์ กองชุน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท กูเกิ้ล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรุงเทพฯเป็นเมืองที่คนต้องใช้เวลาในการเดินทางเพื่อไปทำงานมากที่สุดในโลก เนื่องจากสภาพการจราจรที่ติดขัดทั้งในช่วงเช้าและเย็น ระบบคมนาคมขนส่งไม่สะดวกสบายมากนัก และกรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่ ซึ่งสภาพแบบนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะรับรูปแบบของการทำงานแบบ mobile office มาใช้ ซึ่งในปัจจุบันพบว่า มีบริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงบริษัทขนาดกลางและเล็กในเมืองไทยหลายรายเริ่มหันมาใช้รูปแบบการทำงานแบบนี้แล้ว จะเห็นได้จากปริมาณการใช้ระบบซอฟต์แวร์ผ่านระบบคลาวด์เซอร์วิสของกูเกิ้ล ที่ให้บริการซอฟต์แวร์ระบบงาน Google Apps

“ความสามารถในการทำงานบนรูปแบบ mobile working ในปัจจุบันมีมากขึ้นมากเมื่อความพร้อมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบวกกับความแพร่หลายของอุปกรณ์พกพาต่างๆ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ต (Tablet) มีเพิ่มมากขึ้นจนยอดขายโดยรวมแซงหน้าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเมื่อไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนี้อุปกรณ์พกพาฉลาดๆ แบบนี้เมื่อรวมกับระบบซอฟต์แวร์ที่กูเกิ้ลให้บริการผ่านคลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเรียกใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้น เขาจะทำงานที่ไหน และเมื่อใดก็ได้ ชีวิตการทำงานก็จะมีความสะดวกสบายมากขึ้น”

พรทิพย์ เล่าวว่า ตัวเธอเองในฐานะพนักงานกูเกิล ก็ได้ทำงานบนรูปแบบของ mobile working เนื่องจากเธอต้องเดินทางบ่อยแต่ต้องมีการประชุมติดต่อประสานงานกับทีมงานอยู่เป็นประจำ เธอพกพาอุปกรณ์การทำงานเพียงสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่บางเฉียบ ก็สามารถเปลี่ยนทุกสถานที่ที่เธออยู่ในปัจจุบันเป็นที่ทำงานเคลื่อนที่ได้อย่างง่ายดาย งานต่างๆ ที่เธอทำค้างอยู่ก็สามารถทำอย่างต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่เธอไม่ต้องพกพาไฟล์งานหรือไฟล์เอกสารใดๆ ไปด้วยกับเธอ แม้แต่ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ (Operating System: OS) เธอยังไม่ต้องพกพาไว้ในคอมพิวเตอร์ เพียงแต่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากนั้นพรทิพย์ก็โหลดทุกอย่างที่จำเป็นต่อการทำงานลงมาที่เครื่องเพื่อทำงานจากนั้นก็จัดการจัดเก็บไฟล์งาต่างๆ กลับขึ้นไปไว้บนระบบคลาวด์ดังเดิมเมื่อทำงานเสร็จแล้ว

“รูปแบบการทำงานแบบนี้ พนักงานของกูเกิ้ลทั่วโลกทำอยู่ และเริ่มเห็นแพร่หลายเพิ่มมากขึ้นในเมืองไทย เพราะปัจจุบันระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีความครอบคลุมมากขึ้น และคนไทยเริ่มมีความคุ้นชินกับการใช้บริการคลาวด์ผ่านบริการของกูเกิ้ลหลายอย่าง อาทิ Gmail และ Google Doc ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มที่จะทำงานจากทุกที่ที่เขาต้องการมากขึ้น คลาวด์แอพพลิเคชั่นที่ใช้เป็นประจำคือ Gmail, Google Talk, Calendar, Google Doc, SpreadSheet และ Google Map”

พรทิพย์ กล่าวเสริมว่า ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (Small and Media Enterprise: SME) ในประเทศไทยหลายรายเริ่มมีการใช้ระบบงาน mobile solution มากขึ้น ระบบซอฟต์แวร์ Google Apps ช่วยประหยัดงบประมาณในการลงทุนระบบซอฟต์แวร์ เนื่องจาก เอสเอ็มอีสามารถเริ่มต้นใช้บริการได้ฟรีหากไม่ต้องการระบบซอฟต์แวร์ที่มีการการันตีคุณภาพของบริการ (Service Level Agreement: SLA) แต่หากเอสเอ็มอีต้องการใช้งานระบบซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมบริการหลังการขาย ต้องการระบบรักษาความปลอดภัย และต้องการบริการเรื่องการพัฒนา ต่อยอกแอพพลิเคชั่น (API: Application Programming Interface) ก็สามารถใช้บริการ Google Enterprise ได้โดยลงทุนเริ่มต้นเพียง 50 เหรียญสหรัฐต่อ 1 บัญชีผู้ใช้งานต่อปี

“เอสเอ็มอีเริ่มใช้และเริ่มรู้ว่าเขาสามารถซิงค์ระบบงานทุกอย่างระหว่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน และแท็ปเล็ตได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบันเอสเอ็มอีหลายรายเริ่มใช้แอพพลิเคชั่นที่จำเป็นระหว่างเดินทางมากขึ้น”

Google Apps รองรับการใช้งานตั้งแต่เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และคอมพิวเตอร์พกพา ไปจนถึงแท็ปเล็ต และสมาร์ทโฟน และรองรับการใช้งานของอุปกรณ์ในทุกแพลตฟอร์มทั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ซิมเบี้ยน แอนด์ดรอยด์ และ iOS พรทิพย์ กล่าว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือหรืออุปกรณ์พกพา (Mobile Internet Users) 12 ล้านคนในประเทศไทยเมื่อรวมกับความพร้อมของบริการ Google Apps และคลาวด์คอมพิวติ้ง จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบ mobile working เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้นั้นบริษัทต่างๆ เมื่อเห็นแนวโน้มของความสามารถในการทำงานในทุกที่ทุกเวลาของพนักงานได้แล้ว หากมีการปรับนโยบายโดยอนุญาตให้พนักวานในส่วนวานที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาทำงานที่ทำงานสามารถทำงานจากที่บ้านหรือทำงานจากสถานที่ใดๆได้ จะยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบ mobile office เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

“หากองค์กรใดมีนโยบายหรือกำลังเตรียมจะมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือภายนอกที่ทำงานได้ สิ่งที่บริษัทเหล่านี้จะต้องเตรียมพร้อมในเรื่องของระบบรักษาความพร้อมภัยของข้อมูล ซึ่งทางเลือกที่แนะนำสำหรับองค์ขนาดกลางและเล็กคือ การพึ่งพาบริการของคลาวด์คอมพิวติ้ง ของผู้ให้บริการ จะเป็นกูเกิ้ลหรือไม่ก็ได้ เพราะผู้ให้บริการคลาวด์จะมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและรับประกันคุณภาพบริการและความเสถียรของการใช้งานและการเข้าถึงระบบข้อมูลและแอพพลิเคชั่น”

พรทิพย์ กล่าวว่าหากเอสเอ็มอีรายใดต้องการใช้บริการคลาวด์ และ Google Apps หรือ Google Enterprise ลูกค้าสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลและซื้อบริการได้ด้วยตนเองที่ http://www.google.com/a หรือจะติดต่อขอใช้บริการผ่านตัวแทนจำหน่ายของกูเกิ้ลในปรพเทศไทยอย่างเป็นทางการ 2 ราย คือ CRM & Cloud Consulting และ Tangerine ลูกค้าที่มีระบบงานระบบฐานข้อมูลของตัวเองอยู่แล้วก็สามารถมาใช้งานและรวมระบบเข้ากับระบบงานบนคลาวด์ของกูเกิ้ลได้อย่างง่ายดาย ซึ่งทั้ง 2 บริษัทคนไทยนี้จะสามารถให้บริการและคำปรึกษาลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ Google Enterprise

เทคโนโลยี Mobility หัวใจขับเคลื่อน Mobile Office:

เนื่องจากโดยพื้นฐานมนุษย์ทุกคนต้องการความสะดวกสบายในการทำงานการมีสิงอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ย่อมทำให้มนุษย์มีความยืดหยุ่นในการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น มนู อรดีดลเชฐ ประธานคณะกรรมการบริหาร เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารพกพาที่มีความสามารถในการทำงานสูงขึ้น ประกอบกับความพร้อมของระบบซอฟต์แวร์ที่สามารถให้บริการผ่านเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งได้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานแบบทุกที่ทุกเวลาเพิ่มมากขึ้น

“จะเห็นการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจนภายในหนึ่งเจนเนอร์เรชั่นของคน ที่วิถีชีวิต วิถีการทำงานจะเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยทั้งโครงข่าย อุปกรณ์ และแอพพลิเคชั่น หากบริษัทหรือองค์กรธุรกิจไหนปรับตัวปรับรูปแบบการทำงานทัน เด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบมาจะเลือกที่จะไปทำงานกับบริษัทเหล่านั้น เพราะมันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา เขาไม่ถนัดทำงานในสภาพแวดล้อมที่เขาไม่คุ้น บริษัทหรือองค์กรธุรกิจจะต้องเรียนรู้ที่จะปรับวัฒนธรรมรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ปฏิเสธไม่ได้ ปัจจุบันมีคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วโลกถึง 2 พันล้านคน ในประเทศไทยมีคนใช้ Facebook 8 ล้านคน สิ่งเหล่านี้มีผลและอิทธิพลต่อวิถีชีวิตการสื่อสารและการทำงานทั้งสิ้น”

มนู กล่าวต่อว่า เครือข่ายสังคม (Social Network) จะเข้ามาเป็นโครงข่ายการสื่อสารหลักอย่างหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารในกลุ่มของคนในรุ่นใหม่ จากเดิมที่มีเพียงโทรศัพท์ประจำที่ เปลี่ยนเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ มาเป็นอินเทอร์เน็ต และปัจจุบันพัฒนาการมาเป็นเครือข่ายสังคม ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถจับต้องได้แล้ว องค์กรธุรกิจต้องพิจารณาว่านโยบายขององค์กรควรเป็นอย่างไรเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันนี้ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด เพราะการที่มีความสามารถในการทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา (Mobility) มากขึ้น จะทำให้ทำงานได้มากขึ้น จึงนับว่าเป็นความท้าทายขององค์กรธุรกิจที่จะต้องมองแนวโน้มของการเปลี่ยนผ่านนี้ให้ออกและเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัว

คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) เทคโนโลยีไฮไลท์ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และรูปแบบการทำงานในโลกดิจิตอล

ใส่ความเห็น


ด้วยความที่คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) เป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ ขององค์กรทั้งในเรื่องของการลงทุนด้านเทคโนโลยี เรื่องประสิทธิภาพการใช้งานระบบ และรวมถึงเรื่องของการตอบโจทย์รูปแบบการทำงานในโลกสมัยใหม่ที่สามาาถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา กอปรกับความรู้ความเข้าในของผู้ใช้งานที่มีต่อคลาวด์คอมพิวติ้งที่มีเพิ่มมากขึ้นและให้ความไว้วางใจในระบบนี้มากขึ้น จึงทำให้คลาวด์คอมพิวติ้งยังคงเป็นเทคโนโลยีไฮไลท์ในปีนี้ในภูมิภาคนี้และในประเทศไทย

บริษัทวิจัยไอดีซี (International Data Corporation) ได้คาดว่าคลาวด์คอมพิวติ้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยกเว้น ญี่ปุ่นจะเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในฐานะที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการนำเสนอบริการที่สอดคล้องทั้งการให้บริการในปัจจุบันและบริการใหม่ ๆ  ทำให้ธุรกิจการให้บริการคลาวด์ในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีซึ่งจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 2554 และจะมีการเสนอบริการคลาวด์ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด โดยผู้ใช้งานก็เริ่มจะมองการณ์ไกลขึ้นสำหรับการให้บริการพื้นฐานของ Software-as-a-Service (SaaS) และ Infrastructure-as-a-Service (IaaS) เพื่อเป็นแหล่งของการให้บริการเชิงธุรกิจ ซึ่งจะช่วยทำให้องค์กรเสริมสร้าวความแข็งแกร่งของตนเองได้อย่างรวดเร็วในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

จากรายงานล่าสุดของไอดีซี เรื่อง “Asia/Pacific (Excluding Japan) Cloud Services and Technologies 2011 Top 10 Predictions: Dealing with Mainstream Cloud” ไอดีซีได้ศึกษาแนวโน้มหลัก ๆ ที่คาดว่าจะส่งผลต่อคลาวด์คอมพิวติ้งกับระบบไอทีในองค์กรต่าง ๆ ของภูมิภาคนี้ในปี 2554 ประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงมีความแตกต่างกัน   ในหลาย ๆ ด้านเมื่อเทียบกับภูมิภาค อื่น ๆ  ทั่วโลก และ แผนงานสำหรับการประยุกต์ใช้งานคลาวด์ในอนาคตจะแตกต่างกันไปตามลักษณะที่ถูกกำหนดขึ้นจากงบประมาณที่จำกัด และ กฎหมายของแต่ละประเทศ

แต่แนวโน้มที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงผลักดันมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ อีกส่วนหนึ่งมาจากความพร้อมของการให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องที่คนกลับมาสนใจลงทุนเทคโนโลยีนี้อีกครั้ง เพื่อการปรับปรุงระบบไอทีในองค์กรต่าง ๆ ใช้ผลักดันการเสริมสร้างธุรกิจใหม่ ๆ และยังใช้เป็นตัวเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรได้

ความพร้อมของการให้บริการคลาวด์เป็นแรงส่งให้กับแนวโน้มดังกล่าวนี้ องค์กรส่วนมากจะมีโครงสร้างไอทีที่มีลักษณะเป็นลำดับชั้น ซึ่งบริการในรูปแบบของคลาวด์ก็จะ เปิดให้บริการตามลำดับต่าง ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ Infrastructure Platforms และ Applications-as-a-Service แต่เมื่อการให้บริการคลาวด์เริ่มจะถึงภาวะอิ่มตัว ไอดีซี มองต่อไปในเรื่องของรูปแบบของการให้บริการคลาวด์ว่าจะมีความซับซ้อนขึ้น โดยจะมีการรวมเรื่อง ขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ การให้คำปรึกษา การออกแบบ และ การบริหารจัดการเข้ามาด้วย

คริส มอริส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ด้านเทคโนโลยีคลาวด์และเซอร์วิส ประจำ ไอดีซี เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า หน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของ ซีไอโอ จะขยายขอบเขตกว้างขึ้นไปจากเดิม ที่ทำหน้าที่ส่วนใหญ่ในการตรวจสอบผู้ให้บริการในแง่ของประสิทธิภาพการทำงานและการปฏิบัติตามข้อตกลง บทบาทของ ซีไอโอในอนาคตจะมุ่งเน้นเชิงธุรกิจมากขึ้น และจะเน้นเกี่ยวกับการบริหารสัญญาและการสร้างความสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีก็ยังเป็นสิ่งจำ เป็นอย่างแท้จริงเพื่อทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็น คลาวด์ส่วนตัว คลาวด์ประเภทไฮบริด หรือ คลาวด์สาธารณะ หรือแม้กระทั่งบนแพลตฟอร์มของไอทีแบบดั้งเดิม เทคโนโลยีก็ยังเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงนี้ที่มีผลต่อไอทีที่กำลังถูกมองว่าไม่ก่อให้เกิดบริการใด
ในปีนี้จะเห็นความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมผนึกกำลังกับยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์เพื่อขับเคลื่อนให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง เกิด

ขึ้นอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียและในประเทศไทย ตัวอย่างเช่นความเคลื่อนไหวของยักษ์โทรคมนาคม บริษัท สิงคโปร์ เทเลคอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด (สิงเทล) จับมือวีเอ็มแวร์ เปิดตัวโซลูชั่นคลาวด์แบบออนดีมานด์ SingTel PowerON Compute ที่ขับเคลื่อนด้วยบริการ VMware vCloud Datacenter Service ช่วยลูกค้าองค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 73 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นโซลูชั่นการประมวลผลไฮบริด คลาวด์ ( Hybrid Cloud ) ระดับองค์กรจะช่วยให้ลูกค้าสามารถอัพเกรดทรัพยากรไอที โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากหรือรับมือกับปัญหาความยุ่งยากซับซ้อนในการจัดซื้อและจัดการเซิร์ฟเวอร์และ ระบบต่างๆ เพิ่มเติม และดังนั้นจึงสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ถึง 73 เปอร์เซ็นต์บริษัทต่างๆ จะสามารถขยายทรัพยากรของโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์แบบส่วนตัวที่มีอยู่ไปสู่ระบบคลาวด์สาธารณะได้อย่างไร้รอยต่อ โดยไม่ต้องวุ่นวายกับการติดตั้งและเปลี่ยนแปลงซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นอีกครั้ง นั่นหมายความว่าลูกค้าจะสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรคลาวด์คอมพิวติ้งแบบออนดีมานด์บนระบบสาธารณะโดยเสียค่าใช้จ่ายตามปริมาณการใช้งานจริง

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือความร่วมมือระหว่าง 2 ผู้นำทางด้านไอที บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำเสนอบริการคลาวด์คอมพิวติ้งสู่องค์กรธุรกิจไทยด้วยบริการคลาวด์คอมพิวติ้งแบบครบวงจร ด้วยดิจิตัลคอนเทนท์ โฮมเอนเตอร์เทนเมนท์ อีเมล เครื่องมือในการติดต่อสื่อสารและการทำงานร่วมกัน

ความร่วมมือระหว่างดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาคลาวด์คอมพิวติ้งเพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการบริการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพิ่มทางเลือกและคุณค่าทางธุรกิจที่มากขึ้นให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ การผนึกกำลังดังกล่าวจะช่วยสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมของประเทศด้วยผลิตภัณฑ์และบริการยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยยกระดับไลฟ์สไตล์และรูปแบบการทำงานของผู้ใช้งานชาวไทยไปสู่การใช้งานทางธุรกิจได้

คาดว่าภายในปีนี้จะได้เห็นรูปแบบความร่วมมือในลักษณะนี้ที่ผนวกกับซอฟต์แวร์ที่หลากหลายทั้งจากในและต่างประเทศกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพื่อนำเสนอบริการการใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งได้ในหลากหลายช่องทางและอุปกรณ์เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ททท. ชูนโยบายปี 54 ด้วยการตลาดเชิงรุกใช้ “ดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง”

1 ความเห็น


อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนับเป็นเส้นเลือดหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทยรองจากอุตสาหกรรมส่งออก ด้วยความได้เปรียบในทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลจากทั่วสารทิศทั่วโลกมาเยือนประเทศไทยปีละจำนวนไม่น้อย ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลักแห่งหนึ่งของพวกเขาแม้ว่าปัจจุบันสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศในแถบเอเชียด้วยกันจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยวที่อิงอยู่กับข้อมูลจำนวนมหาศาลบนอินเทอร์เน็ตและโน้มเอียงไปกับคำแนะนำ ติชมของเพื่อนนักเดินทางที่อยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น จนแทบจะเรียบได้ว่ามี “อิทธิพล” ต่อความคิดและการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวอยู่มากในปัจจุบัน

ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจำต้องปรับนโยบายและเปลี่ยนแนวกลยุทธ จากเดิมที่ใช้ “สื่อดั้งเดิม” เป็นหลักเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันภายใต้การบริหารงานของ “สุรพล เศวตเศรณี” ผู้ว่าการฯ คนปัจจุบัน ททท.จะเน้นนโยบายเชิงรุกในการใช้การตลาดออนไลน์หรือการตลาดแบบดิจิตอล (Online/Digital Marketing) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยมากยิ่งขึ้น

นโยบายของททท.ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยโดยใช้การตลาดออนไลน์หรือการตลาดแบบดิจิตอลเป็นอย่างไร
เนื่องจากปัจจุบันอินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Networking) เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ทำให้ททท.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องส่งเสริมให้เกิดการมาเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กับประเทศเพิ่มมากขึ้น และสร้างชื่อเสียงของประเทศในเวทีโลก จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การโปรโมทการท่องเที่ยวจากเดิมที่ทำอยู่ ได้แก่การซื้อพื้นที่โฆษณาในสื่อเก่า อาทิ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ที่เป็นกระดาษ ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งในแง่ของความรวดเร็วของการเข้าถึง ความพลวัตรของข้อมูล ความแพร่หลายของข่าวสารที่มีจำกัด ทำให้ททท.พิจารณาแล้วเห็นว่าหากยังทำการโปรโมทการท่องเที่ยวไทยบนสื่อเดิมเพียงอย่างเดียวจะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเสียโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจำนวนมากและเสียโอกาสที่จะมีพื้นที่ยืนและมีแบรนด์อันแข็งแกร่งบนโลกออนไลน์ไปอย่างน่าเสียดาย

ดังนั้น ททท.จึงมีนโยบายที่จะเพิ่มกลยุทธการโปรโมทการท่องเที่ยวผ่านสื่อใหม่ (New Media) บนโลกออนไลน์ทั้งบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ทั้งสมาร์ทโฟน (Smart Phone) และแท็ปเลต (Tablet) ด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในการท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ค (www.facebook.com/AmazingThailand) และทวิตเตอร์ (Twitter.com/Go2Thailand) เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างททท.กับกลุ่มเป้าหมายบนโลกออนไลน์

ททท.ได้เพิ่มสัดส่วนของงบประมาณในการโปรโมทการท่องเที่ยวผ่านสื่อใหม่จากเดิมที่มีเพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณในการส่งเสริมทั้งหมดของททท.ในปี 2552 เพิ่มเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมาและจะเพิ่มเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ โดยตั้งเป้าว่าจะรักษาฐานนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวประเทศบ่อยๆ ที่มีสัดส่วนสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้จะเข้ามาเที่ยวเมืองไทยราว 15.5 ล้านคน ไว้ให้ได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวในส่วนนี้จะเป็นกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเอง หรือมีส่วนกับการจัดแผนการท่องเที่ยวของตัวเอง ดังนั้นข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ทั้งสินค้าและบริการของแหล่งท่องเที่ยว ข้อมูลที่พัก ข้อมูลพื้นที่ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาก หน้าที่ของทท.คือการนำฐานข้อมูลที่เรามีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลของททท.และเป็นข้อมูลของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยล่าสุดททท.ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาประยุกต์พัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า “Amazing Thailand” ซึ่งมีไว้บริการสำหรับอุปกรณ์ทุกแพลตฟรอ์ม ทั้งบน iOS ได้แก่บน iPad iPhone และ iPod และบน BlackBerry กับบนAndroid

ภายใต้แอพพลิเคชั่น “Amazing Thailand” ประกอบด้วยข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวที่นิยมวางแผนการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง และมีการเตรียมแผนการท่องเที่ยวล่วงหน้า โดยข้อมูลแบ่งออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไทย (About Thailand) ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว (Destinations) ข้อมูลงานกิจกรรมต่างๆ (Event) แผนที่ (Map) บุ๊คมาร์ค (Bookmark) เคล็ดลับการช้อปปิ้ง (Shopping Tips) ข้อมูลแหล่งอาหารไทย (Thai Food) คำถามที่มักพบบ่อย (FAQs) และบริการคำค้น (Search)

จุดเด่นของแอพพลิเคชั่น “Amazing Thailand” คืออะไร
จุดเด่นของแอพพลิเคชั่นนี้คือ การต่อยอดข้อมูลด้านการท่องเที่ยวให้เกิดเป็นบริการรูปแบบใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยว อาทิ ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว (Destinations) ททท.ได้คัดสรรแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางเข้าถึงได้ด้วยตัวเองมาให้บริการพร้อมบอกวิธีการเดินทางไป แนะนำสถานที่พัก รวมถึงสถานที่กินดื่ม และแหล่งช้อปปิ้ง เพื่อให้ข้อมูลเบ็ดเสร็จในที่เดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในการวางแผนการท่องเที่ยว และเอื้อให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาท่องเที่ยวนานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น ปัจจุบันททท.นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวบนแอพพลิเคชั่นแล้ว 89 แห่ง

ทว่าประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งสิ้นมากกว่า 4,000 แห่ง ซึ่งททท.จะทยอยนำแหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้นขึ้นมาไว้บนแอพพลิเคชั่นในอนาคต ทั้งนี้การเลือกแหล่งท่องเที่ยวก่อนหลังพิจารณาจากความพร้อมของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นๆ ด้วยว่ามีความพร้อมและสามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่อาจจะมีการติดต่อขอข้อมูลหรือสั่งจองบริการผ่านระบบออนไลน์ เพราะในอนาคตททท.มีแผนจะพัฒนาต่อยอดแอพพลิเคชั่นจากการให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวไปสู่การอำนวยความสะดวกในการสั่งจองหรือสั่งซื้อบริการด้านการท่องเที่ยวบนระบบออนไลน์ในคราวเดียวเลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ททท.อาจจะต้องอาศัยพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ประกอบการเข้ามาบริหารจัดการการซื้อหรือการจองออนไลน์ เนื่องจากด้วยอำนาจหน้าที่ของททท.เป็นหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ดังนั้น ททท.จะไม่ลงไปให้บริการหรือบริหารระบบเอง

จุดเด่นอีกประการของแอพพลิเคชั่นนี้คือการสร้างความยืดหยุ่นให้กับงานกิจกรรมต่างๆ (Event) เดิมทีที่ใช้สื่อดั้งเดิมที่มีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาและความเร็วในการผลิตและกระจายข้อมูลต่ำ ทำให้ททท.สามารถโปรโมทแต่เฉพาะงานกิจกรรมที่รู้ล่วงหน้า 6 เดือนถึง 1 ปี เพราะต้องให้เวลากับการผลิตสื่อค่อนข้างมาก ซึ่งจะโปรโมทได้เพียงกิจกรรมหลักที่จัดประจำในแต่ละปีตกราว 100 รายการ เท่านั้น แต่ด้วยสื่อดิจิตอล และออนไลน์มาร์เก็ตติ้งทำให้ททท.สามารถเพิ่มเติมข้อมูลกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างปีที่มีมากถึงกว่า 1,000 กิจกรรมเข้าไปในแอพพลิเคชั่นนี้ได้ซึ่งจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวได้มากขึ้น

ซึ่งงานกิจกรรมต่างๆ (Event) นี้มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่วยดึงให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ที่จัดงาน และทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวไม่มีข้อมูลงานต่างๆ เหล่านี้เขาก็ไม่เดินทางมา หรือเดินทางมาแต่ไม่ได้ใช้เวลาเที่ยวในเมืองไทยนานขึ้น เพราะคิดว่าไม่มีกิจกรรมอะไรที่เขาสนใจแล้ว ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่พลวัต หากไม่ได้สื่อใหม่เข้ามาช่วยเผยแพร่คงทำไม่ได้

แผนงานในปีนี้นอกจากจะให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวแล้ว ททท.มีแผนจะต่อยอดบริการเพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง ด้วยการให้บริการข้อมูลและการเชื่อมโยงระบบบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน อาทิ เมื่อนักท่องเที่ยวเจอสถานที่ที่อยากมาเที่ยว ก็สามารถรู้ได้ว่า สถานที่นี้อยู่ที่ไหน ไปอย่างไร และมีกิจกรรมอะไรให้เที่ยวหรือให้ทำบ้าง และหากเขาจะเปลี่ยนไปอีกสถานที่หนึ่งเขาสามารถไปได้อย่างไร ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะนำเสนอในหลายรูปแบบทั้งข้อมูลตัวอักษร ภาพ แผนที่และในอนาคตอาจจะเป็นมัลติมีเดีย ในอนาคตททท.จะทำแผนโปรโมทการท่องเที่ยวแบบ Permission Marketing เราจะออกแบบข้อมูลการท่องเที่ยวให้ตรงกับกลุ่มนักท่องเที่ยวในแต่ละเซ็กเม้นท์มากขึ้น โดยเราจใช้ฐานข้อมูลของนักท่องเที่ยวที่เรามีอยู่จากการที่เขาลงทะเบียนลงแอพพลิเคชั่นของเราไป และจากข้อมูลที่เขาได้ทำผ่านแอพพลิเคชั่นจะทำให้เรามีฐานข้อมูลของนักท่องเที่ยวแต่ละคน ซึ่งการจะทำการตลาดเชิงรุกในลักษณะนี้เราจะต้องได้รับอนุญาตจากนักท่องเที่ยวเป็นรายบุคคลเสียก่อน

เป้าหมายสูงสุดของททท.ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคืออะไร
ททท.ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย เพราะอุตสาหกรรมนี้มีความอ่อนไหวตามเหตุปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้อยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น แทนที่เราจะขายบริการด้านการท่องเที่ยวด้วยสินค้าและบริการที่ตายตัวปีต่อปี เราสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและสินค้าและบริการที่มีอยู่มาช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถสร้างและออกแบบแผนการท่องเที่ยวที่มีความยืดหยุ่นสูงด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวนักท่องเที่ยวเองและประโยชน์ต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยว ททท.เราเล่นบทบาทในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ เราต้องการสร้างให้เกิดการเข้าถึงโดยตรงระหว่างนักท่องเที่ยวกับตัวสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ททท.มิได้มุ่งหวังเพียงดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี พยายามให้เขาอยู่นานขึ้นในแต่ละทริป และพยายามให้เขาใช้จ่ายมากขึ้นในแต่ละครั้งที่มาเที่ยว แต่ททท.ยังมุ่งหวังให้นักท่องเที่ยวไทยออกเดินทางท่องเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้น นักท่องเที่ยวไทยเป็นอีกปัจจัยสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวไทยออกเที่ยวไทยราว 87 ล้านคนครั้ง (จำนวนครั้งของการท่องเที่ยว) ซึ่งในปีนี้ททท.ตั้งเป้าว่าจะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวไทยออกเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 91 ล้านคนครั้ง

นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติปัจจุบันส่วนใหญ่กลายเป็นประชากรดิจิตอล (Digital Citizen) ซึ่งปฏิเสธไมได้ว่าเทคโนโลยีเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงพวกเขาและสื่อสารกับพวกเขาได้ตรงความต้องการ ส่วนตัวผมเองไม่ได้เป็นคนใช้หรือรู้เรื่องเทคโนโลยีมากนัก แต่ผมรู้และเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีในฐานะเครื่องมือสื่อสารอันทรงพลัง ผู้ในฐานะผู้บริหารและผู้ให้นโยบายจึงได้ให้นโยบายกับเจ้าหน้าที่ของททท.ทุกคนว่าองค์กรเราจะเดินหน้าสู่ทิศทางนี้ เราจะใช้เทคโนโลยีมากขึ้นทั้งเรื่องการทำงานภายในองค์กรเราเองและเรื่องงานที่เราจะต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเพื่อสื่อสารกับทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยว จากนี้ไปจะเห็นบทบาทของททท.ในมิติขององค์กรที่ใช้เทคโนโลยีในการทำงานอย่างมากอย่างแน่นอน

(บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารรายสามเดือน Smart Industry)

“ระบบลอจิสติกส์” หัวใจความสำเร็จของ “ออฟฟิศเมท”

ใส่ความเห็น

หากคิดถึง “เครื่องใช้สำนักงาน” เชื่อแน่ว่าหลายคนคงจะคิดถึง “ออฟฟิศเมท” ผู้ขายสินค้าเครื่องใช้สำนักงานที่ส่งตรงถึงบริษัท หรือบ้านคุณด้วยสโลแกนการตลาดการันตีคุณภาพว่า “ส่งถึงคุณในวันถัดไป” (สำหรับ 10 จังหวัดรอบกรุงเทพฯ) อย่างแน่นอน

แม้ว่าจะมีสินค้าที่อยู่ในคลังกว่า 20,000 รายการจากซัพพลายเออร์กว่า 400 ราย และต้องจัดส่งให้กับฐานลูกค้าที่มีอยู่ราว 100,000 ราย โดยเป็นลูกค้าองค์กร 80,000 รายและลูกค้าทั่วไป 20,000 ราย แต่ “ออฟฟิศเมท” ก็สามารถจัดส่งสินค้าที่มีความหลายหลายตามใบสั่งซื้อที่เข้ามาเฉลี่ยประมาณวันละ 1,500 ใบสั่งซื้อต่อวัน ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ครบถ้วย และตรงเวลา คุณภาพการบริการเช่นนี้เป็นจุดเด่นที่แม้จะมีผู้ขายสินค้าประเภทเดียวกันแต่ไม่สามารถชิงตำแหน่งเจ้าตลาดการขายเครื่องใช้สำนักงานออนไลน์แบบไม่มีหน้าร้านของ “ออฟฟิศเมท” ไปได้

วรวุฒิ อุ่นใจ กรรมการผู้จัดการ วัยสี่สิบเศษๆ ผู้บุกเบิก “ออฟฟิศเมท” มากับมือจนสามารถนำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อกลางปีที่ผ่านมา กล่าวว่า หัวใจสำคัญของธุรกิจ ขายเครื่องใช้สำนักงานออนไลน์แบบไม่มีหน้าร้านของ “ออฟฟิศเมท” คือการบริหารสินค้าคงคลังและบริหารเส้นทางการจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง “เทคโนโลยีสารสนเทศ” (IT: Information Technology) เป็นตัวช่วยที่สำคัญมาโดยตลอด

บริษัทเริ่มนำระบบไอที และเริ่มพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล และระบบซอฟต์แวร์ด้านลอจิสติกส์ของตัวเองมาตั้งแต่สิบที่แล้ว โดยเริ่มต้นพัฒนาและใช้งานเพียงไม่กี่โมดูล (Module) จากนั้นก็มีการขยายการใช้งานจนครบทุกโมดูลอย่างในปัจจุบัน ได้แก่ ระบบการจัดซื้อ (Procurement System) ระบบการจัดการคลังสินค้า (Stock Management) และระบบกระจายสินค้า (Delivery System)

วรวุฒิ เล่าว่า ด้วยธุรกิจที่มีหน้าร้านบนอินเทอร์เน็ตและบนหน้ากระดาษแคตตาล็อก ทำให้ความท้าทายของธุรกิจ คือ การบริหารคลังสินค้าและการจัดส่งให้สินค้าถึงมือลูกค้าได้ถูกต้องครบถ้วนในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งบริษัทต้องการตัวช่วยในเรื่องของการบริหารสินค้าคงในคลังกับการบริหารระบบจัดส่งสินค้า และไอทีคือคำตอบ

บริษัทตัดสินใจลงมือพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เองตามความต้องการใช้งานเฉพาะของตนเอง ด้วยโปรแกรมมือ 40 คนทุกวันนี้บริษัทมีระบบไอทีเป็นแกนหลักสำคัญในการทำให้กระบวนการทำงานของบริษัทไหลลื่นต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ เริ่มตั้งแต่ ระบบการจัดซื้อ ระบบจะตรวจสอบดูว่าในคลังสินค้าสินค้าใดลดน้อยลงจนถึงขีดที่ต้องสั่งสินค้าเข้ามาสต็อกเพิ่มบ้าง ทั้งนี้บริษัทกำหนดให้คลังสินค้าขนาด 7,200 ตารางเมตรต้องสต็อกสินค้าได้ไม่เกิน 30 วันขาย ทำให้ระบบต้องคำนวณขนาดพื้นที่ ประเภทสินค้า และปริมาณการขายเพื่อใช้ในการสั่งซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์เข้ามาเก็บไว้ที่สต็อก

จากนั้นบริษัทก็มีระบบการบริหารจัดการคลังสินค้า ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบการขายสินค้าของบริษัท นั่นคือ ทุกครั้งที่มีการขายเกิดขึ้น ณ หน้าร้านออนไลน์ หรือบนแคตตาล็อก รายละเอียดคำสั่งซื้อจะเข้ามาตัดสต็อกเองอัตโนมัติ ทำให้ระบบสินค้าคงคลังของบริษัทมีความเป็นปัจจุบันสูงมาก

นอกจากนี้ บริษัทยังเก็บข้อมูลรายงานการขายเพื่อวิเคราะห์ประเภทสินค้าขายดี หรือสินค้าที่มีการหมุนเวียนเร็ว เพื่อออกแบบการจัดวางสินค้าภายในคลังสินค้า เพื่อให้การเคลื่อนขนย้ายสินค้าเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว สิ้นเปลืองพลังงานน้อยที่สุด อาทิ สินค้าที่มีการหมุนเวียนเร็วจะอยู่ใกล้กว่าสินค้าที่หมุนเวียนช้า เป็นต้น

ระบบต่อมาคือ ระบบการจัดส่งสินค้า ในส่วนนี้บริษัทมีการติดอุปกรณ์ GPS (Global Positioning System) ไว้ที่รถขนส่งสินค้าทั้ง 65- 70 คันที่ต้องวิ่งส่งสินค้าในแต่ละวัน โดยรถแต่ละคันมีภารกิจต้องส่งสินค้าโดยเฉลี่ยคันละ 35 จุดต่อวัน โดยรถแต่ละคันขนส่งสินค้าที่มีมูลคาโดยเฉลี่ยประมาณ 90,000-100,000 บาทต่อวัน ดังนั้น การติด อุปกรณ์ GPS ในรถทุกคันนอกจากจะช่วยเรื่องของความปลอดภัยของสินค้าแล้วยังช่วยเรื่องการทำ Real Time Tracking เพื่อตรวจสอบได้ตลอดเวลาว่ารถแต่ละคันวิ่งอยู่เส้นทางใดและอยู่  ณ จุดใดบ้าง นอกจากนี้ ระบบยังเก็บข้อมูลเส้นทางที่รถแต่ละคันวิ่งส่งสินค้าให้ลูกค้าตามทุกต่างๆ เพื่อมาคำนวณ วิเคราะห์ และออกแบบเส้นทางขนส่งสินค้าที่ดีที่สุด คือ เส้นทางที่ใกล้ที่สุด เส้นทางที่สะดวกที่สุด เพื่อลดเวลาและปริมาณน้ำมันในการส่งสินค้าในแต่ละเที่ยวลงได้เป็นอย่างดี

“ระบบไอทีทำให้เราสามารถบริหารการขนส่งสินค้าได้มีประสิทธิภาพ เราสามารถรักษาคุณภาพการจัดส่งสินค้าในเวลาที่เราการันตีกับลูกค้าได้ สามารถส่งสินค้าที่มีความหลากหลายให้ถึงมือลูกค้าได้อย่างครบถ้วนถูกต้องแม่นยำ และเราสามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการ ลดต้นทุนค่าน้ำมันลดลง เดิมก่อนมีระบบไอทีใช้งานเต็มรูปแบบอย่างนี้ เราต้องใช้รถถึง 80 คัน เพื่อรองรับการส่งสินค้า 1,200 คำสั่งซื้อต่อวัน แต่ตอนนี้เราใช้รถแค่ 65-70 คันรองรับปริมาณคำสั่งซื้อ 1,500 คำสั่งซื้อต่อวัน”

ด้วยระบบงานที่มีประสิทธิภาพเช่นนี้ทำให้ผลประอบการของบริษัทตลอด 8 ปีที่ผ่านมาเติบโตต่อเนื่องราว 35-50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยเพิ่งมาเติบโตลดลงในปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมถดถอยและปัญหาทางการเมือง ซึ่งกระทบต่อธุรกิจบ้าง แต่ก็มีการเติบโตอยู่ราว 15 เปอร์เซ็นต์ โดยในปีนี้คาดว่าบริษัทจะสามารถเติบโตได้ราว 20 เปอร์เซ็นต์

วรวุฒิ กล่าวว่า ปีหน้าบริษัทจะมีการอัพเกรดระบบไอทีครั้งใหญ่ โดยมีเป้าว่าต้องลดต้นทุนของการส่งสินค้าจากเดิมที่ต่ำอยู่แล้ว คือ ราว 2.5-2.8 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย

 

เก๋ไก๋มากสำหรับจดหมายเชิญ Flip Video Camcorder จากเอ็มดีซิสโก้

ใส่ความเห็น

นับเป็นการเชิญไปร่วมงานแถลงข่าวรูปแบบใหม่ที่น่าประทับใจมากๆ สมแล้วที่ซิสโ้ก้ฯ เป็นผู้นำด้าน VDO Conferencing

จดหมายเชิญ Flip Video Camcorder จากเอ็มดีซิสโก้

A message from ดร.ธัชพล โปษยานนท์.
ซิสโก้ขอเชิญร่วมงานแถลงข่าวความสำเร็จของซิสโก้ ประเทศไทย ปี 2010 ที่ผ่านมาและกลยุทธ์การรุกตลาดในปี 2011

วัน / เวลา / สถานที่
วัน: ศุกร์ที่ 10 กันยายน 2553
เวลา: 13.00 – 16.00 น.
สถานที่: ณ ห้องคลาสรูม 1-2 โซนแคมปัส โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ

CRM: เครื่องมือทางการตลาดที่ ไม่ใช่ ‘Nice to have’ อีกต่อไป

2 ความเห็น

เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน องค์กรธุรกิจจำนวนมากในได้ทุ่มเททรัพยากรขององค์กรเพื่อแข่งขันกันสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าปัจจุบันของตนมากพอๆ กับการทุ่มเทพลังในการหาลูกค้าใหม่ และจากการงานวิจัยทางการตลาดพบว่าต้นทุนของการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิมนั้นต่ำกว่าต้นทุนในการสร้างลูกค้าใหม่อยู่หลายเท่าตัว จึงไม่แปลกที่ในปัจจุบันองค์กรธุรกิจน้อยใหญ่ต่างเริ่มหันมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญในการลงทุนในระบบเทคโนโลยีเพื่อที่จะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือช่วยให้องค์กรของต้นนั้นสามารถที่จะมีความสามารถในการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าที่ดีขึ้นซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็ม (Customer Relationship Management: CRM) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของนักการตลาดในทุกองค์กรธุรกิจตั้งแต่ระดับใหญ่ไล่ลงมาถึงระดับเล็ก เพราะบริษัททุกขนาดต่างมีพันธกิจเดียวกัน นั่นคือ การต้องรักษาลูกค้าเก่าให้มั่น ในขณะเดียกวันก็ต้องพยายามขยายฐานลูกค้าใหม่ให้มาก

CRM: หัวใจของการแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน

ในยุคที่โลกการแข่งขันทางการตลาดกำลังเคลื่อนจากโลกออฟไลน์ไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มก็จะยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ดร.เอียน เอียน เฟนวิค ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนมาสู่การปฎิสัมพันธ์กันผ่านโลกของสังคมออนไลน์มากขึ้น และคัมภีร์การตลาดยุคดิจิตอลได้เปลี่ยนจาก 4Ps ในอดีต คือ Product, Price, Place และ Promotion ไปสู่ ‘New 4Ps’ ได้แก่ Permission, Participation, Profile และ Personalization ดังนั้นนักการตลาดและนักธุรกิจที่จะกุมชัยชนะในเกมการตลาดยุคใหม่นี้จะต้อง เข้าใจและศึกษาแนวโน้มของการเติบโตของสังคมออนไลน์ (Social Network) ให้ดีและซีอาร์เอ็มจะยิ่งทวีบทบาทและความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะซีอาร์เอ็มในโลกออนไลน์จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากแต่ละบริษัทรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ซึ่งการได้มาของข้อมูลลูกค้านั้น ดร.เอียน กล่าวว่า แต่ละองค์กรจำเป็นจะต้องมีระบบซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลลูกค้าที่เฉลียวฉลาดมากพอ โดยระบบการเก็บข้อมูลและพฤติกรรมทุกการเคลื่อนไหวของลูกค้านั้นจะต้องค่อยๆ ทำทีละเล็กทีละน้อย เพื่อให้ลูกค้าไม่รู้สึกว่ากำลังโดยรุกและรู้สึกสูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล หลักการของการเก็บข้อมูลลูกค้าที่ดี บริษัทจะต้องเรียนรู้ลูกค้าแต่ละรายโดยการทยอยเก็บข้อมูลของลูกค้าทีละส่วนๆ และค่อยๆ สานสายสัมพันธ์โดยการสื่อสารในสิ่งที่ลูกค้าสนใจ และแปลเปลี่ยนการสนทนานั้นมาเป็นการตอบโจทย์ทางการตลาดขององค์กรอย่างแนบเนียนที่สุด

“การทำซีอาร์เอ็มในปัจจุบันมีความสำคัญมาก เพราะต้นทุนในการสร้างประสิทธิภาพธุรกิจน้อยกว่ามากหากเทียบกับการลงทุนทางการตลาดในส่วนอื่น และยิ่งในปัจจุบันโลกของการตลาดทวีความเข้มข้นทางการแข่งขันมากขึ้นบนโลกออนไลน์ ซึ่งแนวโน้มคือซีอาร์เอ็มจะยิ่งมีบทบาทและมีความสำคัญมากขึ้น เพราะโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการตลาดเกิดและดำเนินอยู่บนระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แนวโน้มซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มในปีนี้จะเป็นระบบซีอาร์เอ็มที่เป็นอัตโนมัติ (Automatic CRM) มากขึ้น นั่นคือ ระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มจะมีความฉลาดมากขึ้นและทำงานเป็นระบบอัตโนมัติ ซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มจะสามารถทำงานได้ดีมากขึ้น อาทิ ซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มจะทำงานอย่างอัตโนมัติกับระบบฐานข้อมูลลูกค้า และระบบการตลาดออนไลน์ เป็นต้น”

ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษที่สองของการลงทุนในระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มขององค์กรธุรกิจทั่วโลกรวมถึงบริษัทธุรกิจในประเทศไทย โดยในทศวรรษที่สองของซีอาร์เอ็มจะเป็นยุคที่ซีอาร์เอ็มจะเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะองค์กรธุรกิจต่างเรียนรู้ถึงความสำคัญและเข้าใจถึงการลงทุนเพื่อใช้งานระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็ม และพร้อมที่จะเดินหน้าการทำซีอาร์เอ็มอย่างเต็มที่

ในมุมมองของดร.เอียนนั้น ธุรกิจทุกประเภทและทุกขนาดมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ซีอาร์เอ็มด้วยกันทั้งสิ้น เพราะซีอาร์เอ็มได้กลายบทบาทมาเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ทุกธุรกิจจะต้องมีเฉกเช่นเดียวกับระบบงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบบริหารทรัพยากรบุคคล หรืออีอาร์พี (ERP: Enterprise Resource Panning) และระบบธุรกิจอัจฉริยะ (BI: Business Intelligent) และการที่องค์กรธุรกิจมีข้อมูล (information) โดยไม่มีการเปลี่ยนข้อมูลนั้นมาใช้เป็นอาวุธในการกำหนดยุทธศาสตร์ทางการตลาดก็เปล่าประโยชน์

ดังนั้น จุดเริ่มประการสำคัญของการที่จะประสบความสำเร็จในการทำซีอาร์เอ็มนั้น ดร.เอียนกล่าวว่า  ผู้บริหารจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และต้องสร้างหรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานทุกคนในทุกหน่วยงานที่จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องสัมผัสกับลูกค้าโดยตรง (Customer Touch-Point) ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าแต่ละรายได้ เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการหรือตอบคำถาม และสามารถนำเสนอการตลาดเชิงรุกแก่ลูกค้ารายนั้นได้อย่างตรงเป้ามากที่สุด
“โดยลำพังระบบซีอาร์เอ็มเองจะไม่สามารถช่วยองค์กรให้รักษาฐานลูกค้าเก่าเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย หากองค์กรนั้นขาดซึ่งนโยบายจากฝ่ายบริการที่ชัดเจน และขาดซึ่งระบบงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะมีส่วนช่วยเปลี่ยนข้อมูลลูกค้าเป็นเม็ดเงินเข้าบริษัทได้” ดร.เอียนกล่าว

SaaS และ Open Source CRM
เปิดโอกาส CRM สำหรับ SME:
ด้านเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีที เอเชีย จำกัด บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มและคอลล์เซ็นเตอร์สัญชาติไทย กล่าวว่า มูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มในประเทศไทยนั้นมีมูลค่าราว 1,000 ล้านบาท และซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่าอัตราการขยายตัวของตลาดซอฟต์แวร์โดยรวม ซึ่งปีนี้คาดว่ามูลค่าตลาดรวมของซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มอยู่ที่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มูลค่าตลาดรวมซอฟต์แวร์ปีนี้คาดว่าจะมีการขยายตัวเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เป็นเพราะซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มจะเป็นซอฟต์แวร์ที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของการลงทุนทางไอทีขององค์กรธุรกิจไทยในปีนี้

“ ช่วงที่ผ่านมาองค์ธุรกิจไทยในทุกอุตสาหกรรม อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ธนาคาร ฟาสฟูดส์ (Fast Food) ดีลิเวอร์ลี่ (Delivery) ประกันชีวิต ประกันภัย และแม้แต่หน่วยงานราชการ อาทิ กรมสรรพากร และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เริ่มให้ความสนใจที่จะลงทุนในระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มมากขึ้น ดูจากฐานลูกค้าของบริษัทพบว่าลูกค้าเริ่มหันมาลงทุนระบบซีอาร์เอ็มเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท ลูกค้าเริ่มมีความเข้าใจว่าซีอาร์เอ็มเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เขาสามารถเก็บข้อมูลลูกค้า ศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละรายแบบลงรายละเอียดได้ และซีอาร์เอ็มช่วยให้บริษัทสามารถรู้จักลูกค้าแทบจะทุกคนของบริษัทได้เป็นอย่างดี และองค์กรธุรกิจเริ่มจะเข้าใจแล้วว่าระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มนั้นเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้บริษัทสามารถบริหารความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้กับบริษัทได้นาน นอกจากนี้ลูกค้าส่วนมากยังเริ่มเข้าใจแล้วว่าระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มไม่ใช่ยาวิเศษที่ลงทุนแล้วจะประสบความสำเร็จทันหากขาดซึ่งองค์ประกอบอื่นที่สำคัญ นั่นคือ การจัดระบบฐานข้อมูลลูกค้า และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ชัดเจน”

เฉลิมพลยังมองว่า ตลาดซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มอยู่ในช่วงเติบโตอย่างมากเพราะธุรกิจต่างให้ความสำคัญในการลงทุนทำซีอาร์เอ็มกันมากขึ้น ประกอบกับบริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มต่างหันมาให้บริการระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มผ่านรูปแบบ Software as a Service (SaaS) กันมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือแม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่เอง สามารถลงทุนและมีระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มใช้ได้รวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนก้อนใหญ่ แต่จ่ายรายเดือนตามปริมาณการใช้งาน ซึ่งรูปแบบการให้บริการในลักษณะนี้ช่วยเพิ่มยอดการติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มในองค์กรธุรกิจได้อย่างมาก

ตัวอย่างของบริษัทซอฟต์แวร์ต่างชาติที่เริ่มให้บริการซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มแบบ SaaS ได้แก่ บริษัท ซีเบล ซิสเต็มส์ อิงค์ ที่ร่วมมือกับบริษัทไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มผ่านรูปแบบ Software as a Service (SaaS) ที่เรียกว่า “ซีเบล ซีอาร์เอ็ม ออนดีมานด์” (Seibel CRM on Demand) แก่บริษัทไทย ทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงองค์กรขนาดใหญ่ โดยมุ่งที่จะให้บริการ “ซีอาร์เอ็ม สำหรับทุกคน” (CRM for Everyone) ซึ่งเป็นซีอาร์เอ็มสำหรับองค์กรทุกขนาด ในทุกอุตสาหกรรม ที่จะมาช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางธุรกิจ และเพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจ จากการติดตามและบริหารกระบวนการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับลูกค้า ภายในองค์กรทั้งหมด ตัวอย่างเช่น อีเทเลแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ให้บริการเอาท์ซอร์สด้านคอลเซ็นเตอร์ รายใหญ่ที่สุดโตเร็วที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ ได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานโซลูชั่นและบริการดังกล่าวได้เต็ม 100% ภายในระยะเวลาเพียงแค่สองสัปดาห์ โดยสามารถรวมศูนย์ระบบงานด้านการขาย การตลาด และการบริการไว้ด้วยกัน เป็นเหตุให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 40%

การให้บริการระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มผ่านรูปแบบ Software as a Service (SaaS) นี้นอกจากจะเปิดโอกาสให้องค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็กสามารถใช้มีระบบซีอาร์เอ็มใช้งานได้โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนก้อนโต เพียงแต่มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าบริการรายเดือน ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ค่อยเริ่มใช้ซีอาร์เอ็มจากปริมาณการใช้งานโมดูลซอฟต์แวร์เพียงไม่กี่โมดูลก่อน หรือเริ่มจากจำนวนผู้ใช้งานเพียงไม่กี่คนได้ นั่นก็เท่ากับว่าการนำเสนอบริการระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มผ่านรูปแบบ Software as a Service (SaaS) นี้ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางธุรกิจและการลงทุนและเพิ่มโอกาสทางการตลาดและการแข่งขันทางธุรกิจให้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก

นอกจากการให้บริการระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มผ่านรูปแบบ Software as a Service (SaaS) แล้วในปัจจุบัน ยังมีการให้บริการระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มที่เป็นโอเพ่นซอร์สเทคโนโลยี (Open Source CRM) อาทิ SugarCRM และ vtigerCRM ซึ่งการใช้ค่าใช้ซีอาร์เอ็มที่เป็นโอเพ่นซอร์สจะมีจ่ายในการใช้บริการจะต่ำกว่า ซึ่งการใช้ซีอาร์เอ็มที่เป็นโอเพ่นซอร์สเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีกลุ่มบริษัทซอฟต์แวร์ไทยภายใต้กลุ่ม ชมรมผู้ประกอบการโอเพ่นซอร์ส (BOSS) สังกัดสมาคมสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย ได้เริ่มมีระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มให้บริการ ซึ่งปัจจุบันซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สสำหรับระบบงานขององค์กรธุรกิจในทุกระดับของการทำงานเริ่มได้รับความนิยมจากองค์กรธุรกิจไทย และระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มเป็นหนึ่งในระบบซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่ได้รับความนิยม

Integrated CRM/Social relationship management
แนวโน้ม CRM ในยุคโซเชียล เน็ตเวิร์ค:

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลายองค์กรจะเริ่มมีความตระหนักและตื่นตัวในการที่จะใช้ซีอาร์เอ็มแล้ว แต่ละองค์กรจะต้องคอยจับตามองแนวโน้มของรูปแบบการทำซีอาร์เอ็มในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการสื่อสารในชีวิตประจำวันของคน ซึ่งในยุคนี้ซีอาร์เอ็มจะยิ่งทวีบทบาทและความสำคัญ


ดร.เอียน ให้มุมมองไว้ว่า ในยุคที่โซเชียล เน็ตเวิร์ค (Social Network) กำลังครองเมืองเช่นในปัจจุบัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนเรูปแบบและวิธีการบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้าอยู่บ้างพอสมควร นั่นคือระบบซีอาร์เอ็มนั้นนอกจากจะต้องมีความพลวัตตลอดเวลา (Dynamic) แล้วจะต้องมีความเป็นอัตโนมัติ (Automatic) มากขึ้น ระบบซีอาร์เอ็มจะต้องมีความฉลาดและทำงานสอดคล้องกับทุกช่องทางการสื่อสารที่องค์กรมีต่อลูกค้า (Customer Touch-Point) ตั้งแต่พนักงานระบบคอลล์เซ็นเตอร์ พนักงานดูแลระบบอีเมล์ลูกค้า พนักงานขาย ณ จุดขาย พนักงานผู้ดูแลแอคเคาน์เฟซบุ๊ค (Facebook) และ (Twitter) ขงองค์กร พนักงานทุกคนที่ต้องสัมผัส ต้องปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าจะต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าที่มีการอัพเดทล่าสุดที่เหมือนกันได้เท่าเทียมกัน เพื่อให้การตอบสนองตอบกลับ (Interaction) ลูกค้าสามารถทำได้อย่างไร้รอยต่อ (Seamless Communication)

นอกจากนี้ ระบบซีอาร์เอ็มในยุคใหม่จะต้องเป็น Integrated CRM ที่ต้องสามารถผนวกรวมเข้ากับเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ ได้ ดร.เอียนได้ยกตัวอย่างว่า โออิชิ กรุ๊ปที่นำบาร์โค้ดสองมิติ หรือ QR Code มาใช้ในการเก็บข้อมูลลูกค้าและพฤติกรรมของลูกค้า ผ่านการผสมผสานกับออนไลน์เกมที่พัฒนาขึ้นเองที่ชื่อ Café City ซึ่งกลยุทธ์นี้นอกจากจะช่วยเพิ่มยอดขาย “ชาขวด” ให้โออิชิแล้ว ยังเพิ่มจำนวนลูกค้าที่มาปฏิสัมพันธ์กับโออิชิที่หน้า Facebook Fan Page โออิชิได้อย่างมาก ทั้งยังช่วยให้โออิชิรู้ได้ว่าสินค้าตัวไหนขายดีและขายให้กับกลุ่มลูกค้าที่เป็นใคร เพราะตอนลูกค้านำขวดชาโออิชิที่มีแถบ QR Code ไปลงทะเบียนที่หน้า Facebook Fan Page ของโออิชินั้น ระบบซีอาร์เอ็มของโออิชิจะสามารถรู้ข้อมูลบุคคลของคนๆ นั้นจากฐานข้อมูล (Profile) ที่อยู่ในเฟซบุ๊คได้ทันที

ดร.เอียน กล่าวว่า กรณีของโออิชิ ถือเป็นการทำซีอาร์เอ็มที่มีการผสมผสานหลายเทคนิคที่เข้ากันอย่างลงตัว โดยที่ลูกค้าเองไม่รู้สึกว่ากำลังโดนเก็บข้อมูลส่วนตัว เพราะลูกค้าเองอยากจะเล่นเกมและยินดีที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตนกับการได้เล่นเกม ซึ่งแนวโน้มในอนาคตจากนี้ไป ในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์คครองเมืองผู้บริโภคส่วนใหญ่จะยินดีแลกข้อมูลส่วนตัวกับการได้เล่นเกมหรือได้สิทธิเพิ่มในการในบริการแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เจ้าของสินค้าจะคิดค้นและนำมาเสนอ ฉะนั้น นักการตลาดจะต้องมีมุมมองที่กว้างและไกลเกินกว่ารูปแบบการทำการตลาดและการทำซีอาร์เอ็มแบบเดิมๆ เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆ จำนวนมากเกิดขึ้นพร้อมที่จะให้นักการตลาดหยิบมาใช้ผสมผสานกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการครองใจลูกค้า ดังนั้น นักการตลาดรุ่นใหม่จะต้องทำอย่างใกล้ชิดกับนักเทคโนโลยี

นอกจากนี้ บริษัทเองก็สามารถประยุกต์ใช้เครือข่ายสังคม หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นเครื่องมือในการสร้างและบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าเป้าหมายได้อย่างง่ายดายและแนบเนียน ที่เรียกว่าการทำ Social relationship management ผ่านเครือข่ายสังคมทั้ง Facebook และ Twitter โดยใช้ทุนน้อยแต่อาศัยเวลาและความทุ่มเทมาก และเพื่อให้การทำซีอาร์เอ็มผ่านเครือข่ายสังคมสัมฤทธิ์ผลเป็นเท่าทวี บริษัทจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมืออื่นๆ รองรับอยู่ข้างหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบซอฟต์แวร์ซีอาร์เอ็มเอง ระบบวิเคราะห์ข้อมูล ระบบวางแผนการตลาด เป็นต้น

“ดูเหมือนว่าการทำซีอาร์เอ็มในยุคใหม่จะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่า เพราะสามารถมีเครื่องไม้เครื่องมือหรือตัวช่วยให้เลือกใช้มากมาย แต่การทำซีอาร์เอ็มในยุคใหม่ก็มีความท้าทายมากขึ้น เพราะในยุคใหม่นี้ลูกค้ามีความต้องการและการตอบสนองที่แตกต่างกัน ดังนั้น การทำซีอาร์เอ็มในยุคใหม่จะต้องมีความละเอียดอ่อนและลงรายะละเอียดมากขึ้น เพราะลูกค้ามีความเป็นเอกลักษณ์ (Uniqueness) และมีความเป็นส่วนตัว (Personalization) มากขึ้น”

อาจกล่าวได้ว่าไม่ว่ายุคไหนๆ การทำซีอาร์เอ็มหรือการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้านั่นนับว่าเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกองค์กร ในทุกประเภทธุรกิจ และในทุกขนาดของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่แทบทุกองค์กรธุรกิจเริ่มตระหนักชัดแล้วว่าการรักษาฐานลูกค้าเก่าที่ตนเองมีอยู่นั้นยั่งยืนกว่า ใช้งบลงทุนน้อยกว่าได้ผลตอบแทนกลับมากกว่า การทำซีอาร์เอ็มจึงกลายเป็นหัวใจหลักของทุกองค์กรธุรกิจไปแล้วนั่นเอง

คลาวด์ คอมพิวติ้ง: พลิกรูปแบบกบริการซอฟต์แวร์กับโอกาสของ SME ไทย

ใส่ความเห็น

คงไม่ปฏิเสธว่าในบรรดาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในประเทศไทยจำนวนมากยังไม่ได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอซีที มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจอย่างเต็มที่มากนัก ทั้งนี้ เหตุผลหลักประการหนึ่งก็คือ ข้อจำกัดเรื่องเงินทุน เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาหากบริษัทใดต้องการใช้ระบบไอทีนั้นจะต้องลงทุนซื้อระบบมาติดตั้งเองทั้งหมด ข้อจำกัดนี้กำลงถูกทำลายลงโดยเทคโนโลยีที่เรียกว่า คลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing)

ทั้งนี้เนื่องจากเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งนั้นเกิดจากแนวคิดของการนำระบบซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นต่างๆ ไว้ที่เครื่องแม่ข่ายกลาง จากนั้นก็อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถล็อกอินเข้ามาในระบบเพื่อใช้งานระบบซอฟต์แวร์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้จากที่บริษัทของตน ซึ่งคลาวด์ คอมพิวติ้ง ยิ่งเป็นที่สนใจอย่างมากในแวดวงธุรกิจทั่วโลกในปีที่ผ่านมา เพราะคลาวด์ คอมพิวติ้ง คือ แพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้ธุรกิจที่ต้องการใช้งานระบบไอทีได้มีทางเลือกในการเช่าใช้ระบบแทนที่จะต้องลงทุนซื้อระบบ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ

นอกจากนี้ คลาวด์ คอมพิวติ้ง ยังช่วยให้ผู้ประกอบการที่แม้จะไม่เคยมีระบบไอทีใช้มาก่อนเลยก็สามารถเริ่มต้นใช้งานระบบไอทีได้ในระยะเวลาอันสั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมี มีเพียงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อที่จะเชื่อมโยงเข้าไปสู่ระบบแอพพลิเคชั่นของตนที่ฝากไว้บนคลาวด์ คอมพิวติ้งเท่านั้น

และหลังจากเริ่มต้นใช้งานแล้ว คลาวด์ คอมพิวติ้งยังช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจไปตามปกติ โดยมีระบบไอทีเป็นตัวช่วยหลักโดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายเริ่มต้นเท่านั้น แต่ผู้ใช้ยังไม่ต้องกังวลถึงภาระค่าดูแลระบบ ไม่ต้องกังวลเรื่องการพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ และการอัพเกรดระบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะเรื่องเหล่านี้จะถูกยกให้เป็นภาระของผู้ให้บริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing Services) ซึ่งรายละเอียดของบริการจะมีความแตกต่างกันขึ้นกับความต้องการใช้งานผู้ใช้ว่าต้องการใช้งานระบบซอฟต์แวร์ระบบใดบ้าง

ทั้งนี้ ด้วยบริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง เป็นการให้บริการแบบเช่าใช้ระบบซอฟต์แวร์ ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเลือกใช้บริการเฉพาะระบบซอฟต์แวร์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกับการประกอบธุรกิจของตน เป็นรายประเภทและรายโมดุลของซอฟต์แวร์ไป ค่าใช้บริการก็จะแปรผันตามประเภทและปริมาณของระบบซอฟต์แวร์ที่เช่าใช้ คือใช้เท่าไหนจ่ายเท่านั้น (Pay per Use) โดยผู้ใช้จะต้องชำระค่าใช้บริการซอฟต์แวร์แบบรายเดือน หรือรายปี

เมื่อลักษณะการให้บริการใช้ระบบซอฟต์แวร์บนแพลตฟอร์มของคลาวด์ คอมพิวติ้งเป็นดังนี้ ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดควบคู่กันกับ คลาวด์ คอมพิวติ้ง ก็คือรูปแบบบริการซอฟต์แวร์แบบใหม่ที่ไม่ใช่การขายขาด แต่เป็นการให้เช่าใช้ซอฟต์แวร์ หรือที่เรียกกันว่า Software as a Service (SaaS) ซึ่งตามโมเดลนี้ซอฟต์แวร์จะเปลี่ยนจาก “สินค้า” ที่ต้องถูกซื้อ เป็น “บริการ” ที่ต้องจ่ายค่าใช้บริการตามที่ใช้งานจริง SaaS เป็นรูปแบบธุรกิจการให้บริการซอฟต์แวร์ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งทั้ง SaaS และคลาวด์ คอมพิวติ้ง นั้นส่งผลดีต่อทั้งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และผู้ใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นโมดูลๆ (Module By Module) เพื่อให้บริการลูกค้าเฉพาะบางโมดูลได้ โดยที่ไม่ต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งระบบ ซึ่งช่วยลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ในขณะที่ผู้ใช้บริการก็สามารถเลือกใช้เฉพาะซอฟต์แวร์โมดูลที่ตัวเองต้องการโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อซอฟต์แวร์ทั้งระบบ ที่สำคัญลูกค้าไม่ต้อง “ซื้อ” แต่เปลี่ยนมาจ่าย “ค่าเช่าใช้” ซอฟต์แวร์โมดูลที่ตนเองใช้งานเท่านั้น

ปัจจุบันมีบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จำนวนมากเริ่มให้บริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง ให้กับลูกค้าในประเทศไทย อาทิ ออราเคิล ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) และซันไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทยจำนวนมากหันมาให้บริการระบบซอฟต์แวร์ให้ลูกค้าผ่านรูปแบบ SaaS มากขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวลนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ธุรกิจไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่จะสามารถเข้าถึงระบบไอทีขนาดใหญ่และระบบซอฟต์แวร์ที่มีความจำเป็นต้องใช้งานได้ภายใต้ต้นทุนที่ลดลง เชื่อแน่ว่าในปีนี้จะมีการขยายตัวของบริการคลาวด์ คอมพิวติ้งและ SaaS อย่างมาก และอานิสงค์ของการเติบโตดังกล่าวจะตกเป็นของเอสเอ็มอีไทยนั่นเอง…

iPad … ใครว่าฆ่าหนังสือพิมพ์….?

3 ความเห็น

หากจะกล่าวว่าหลงใหล iPad ตั้งแต่แรกเห็นตอนสตีฟ จ๊อบถือและโชว์ในดูผ่านจอทีวีในงานเปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็คงจะไม่เกินจริงเกินไปนัก เพราะโดยส่วนตัวแล้วระยะหลังมานี้จะชอบการอ่านบนจอ LCD มากขึ้น เนื่องเพราะความงกกลัวเปลืองหมึกต้องมานั่งพริน กอปรกับในปัจจุบันมีเรื่องราวข่าวสารมากมายรอการอ่านอย่างรวดเร็วมากต่อวัน เพราะฉะนั้นการปรับนิสัยให้คุ้นชินกับการอ่านบนวัสดุสะท้อนแสงแทนการอ่านบนกระดาษจะช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้นเยอะ บวกกับระยะหลังมานี้ต้องออนไลน์อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และ iPhone มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันด้วยแล้ว ยิ่งต้องการอุปกรณ์ที่คิดว่าใช่และเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองค่อนข้างมาก

จนวันหนึ่งได้มีโอกาสมาสัมผัสกับเจ้า iPad ด้วยความบังเอิญผสมตั้งใจ เลยได้มีโอกาสลองใช้ ก็พบว่าความรู้สึกแรกที่มีต่อเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้มิได้เกินจริง หรือ มิใช่เรื่องของกระแสนิยมแต่อย่างใด แต่ชอบเพราะมัน “ตรง” ใจ “ตรง” ความต้องการอย่างมากนั่นเอง

ด้วยความเป็นคนข่าวจึงชอบติดตามข่าวสารจากสื่อทั้งไทยและเทศโดยเฉพาะข่าวเทคโนโลยี แต่ช่วงนี้เนื่องจากการข่าวการเมืองในประเทศร้อนแรงเหลือเกินจึงอดไม่ได้ที่จะติดตามหาข่าวสารการเมืองไทยในสายตาสื่อนอกเพื่อดูว่าเขามองและคิดกับเราอย่างไร และ iPad ให้การท่องเว็บเป็นไปอย่างสนุกสนานและสะดวกสบายมาก แต่ขอบอกก่อนนะว่า เป็นการท่องเว็บผ่าน WiFi อยู่ที่บ้าน ด้วยรูปทรงที่เป็นเหมือนกระดานชนวน ที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมอื่นใด (ทั้งเมาส์ คีย์บอร์ด หรือปากกา) นอกจากปลายนิ้วของเราเอง ทำให้การใช้งาน iPad เป็นไปด้วยความสะดวก แต่เริ่มตั้งค่า WiFi จากนั้นทุกครั้งที่เปิดสัญญาญเราท์เตอร์ที่บ้าน เจ้า iPad ก็จะออนไลน์เองอัตโนมัติ สะดวก สบายอย่างมาก

จอใหญ่…สัมผัสใหม่…ประสบการณ์ใหม่….เร้าใจกว่า!!!

หน้าจอใหญ่ถึง 9.7 นิ้ว ทำให้การอ่านหรือการมองจอเป็นไปอย่างสบายตามากกว่าบน iPhone มาก (เห็นว่า iPad เท่ากับ iPhone 4 เครื่องมาเรียงต่อกัน) ดังนั้นประสบการณ์การมองจอใหญ่ๆ แล้วมามองจอเล็กนั้น รู้สึกถึงความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด อีกอย่าง เนื่องจากจอ iPad นั้นเป็นจอสี LCD ทำให้จอมันเคลียร์ใสกิ๊ก แลดูสวยดี (แต่อาจไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบอ่านบนจอ LCD) แต่ข้อเสียประการหนนึ่งของจอแบบนี้คือ ไม่สามารถนำไปใช้งานในที่ที่มีแสงแดดที่ไม่ต้องจ้ามาก (แค่นั่งอยู่ใต้ชายคา) จอก็จะสะท้อนแสงอย่างมาก จนจอ LCD กลายเป็นกระจกส่องหน้าเราดีๆ นี่เอง คือมองเห็นข้อความ รูปภาพที่อยู่ในจอ แต่จะมีแสงสะท้อนมาก ทำให้ต้องแยกประสาทตาอย่างมาก ทำให้อ่านนานแล้วจะมึนศีรษะได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ในที่โล่งแจ้ง

ประสบการณ์การท่องเว็บผ่าน iPad อาจจะไม่ราบรื่น สนุกสนานได้อรรถรสเท่าโน๊ตบุ๊คก็ตรงที่ iPad ไม่มี Flash ทำให้เวลาเข้าเว็บที่มี Flash แล้วเหมือนเว็บมันเสีย จึงพลอยทำให้คนเข้าเสียอารมณ์ไปด้วย แต่เว็บหนึ่งที่เข้ก่อนเลยก็คือ Google โอเคไม่มีปัญหา (เสียดkยอยู่อย่างเดียวคือไม่สามารถพิมพ์คำค้นภาษาไทยได้นั่นเอง)

แต่ทั้งนี้นั้น การท่องเว็บด้วย Safari บนหน้าจอ LCD ขนาด 9.7 นิ้วก็เป็นอีกประสบการณ์ที่น่าประทับใจ รู้สึกแปลกตาเมื่อมองเว็บของหนังสือพิมพ์ The Nation บน iPad

ไม่ว่าจะมองในแนวตั้งหรือตะแคงจอมองในแนวนอน ก็จะเห็นว่าเว็บธรรมดาที่เห็นจนคุ้นตาบนจอคอมพิวเตอร์ ก็ดูสวยมากขึ้นเมื่ออยู่บน iPad

ท่องโลกแอพฯ ที่ชอบ…(แอพฯข่าวนั่นเอง) บน iPad:

อย่างไรก็ดี เมื่อใช้ iPad แล้ว สิ่งหนึ่งที่อยากจะลองมากคือ แอพพลิเคชั่นที่มีมากมายมหาศาลบน iTune ดังนั้นแทนที่จะนั่งท่องเว็บ ผ่าน Safari ก็หันไปลองแอพพลิเคชั่นบน iPad แทน โดยจะเน้นที่แอพพลิเคชั่นของข่าวเป็นหลัก ทั้งของสำนักข่าว ของหนังสือพิมพ์เอง และของผู้รวบรวมและให้บริการข่าว (News Aggregators) ก็พบว่า จอใหญ่กว่า ทำให้การนำเสนอของผู้ให้บริการข่าวนั้นแตกต่างออกจากเดิม และเท่าที่ควานหาแออพลิเคชั่นจากทุกมุมของ iTune for iPad ก็พบว่าแต่ละค่ายก็มีมุมมองในการนำเสนอ “รูปแบบของการนำเสนอข่าว” ที่แตกต่างกันออกไป ก่อนที่จะไปดูในแต่ละราย ที่แน่ๆ รูปแบบที่นำเสนอบน iPad และบน iPhone นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ….

เิริ่มที่ตัวสำนักข่าวก่อนเลย … จะเห็นได้ว่าตอนนี้มีสำนักข่าวหลายรายเริ่มมีบริการข่าวบน iPad กันแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีบริการข่าวบน iPhone มาก่อนทั้งนั้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ารูปแบบการนำเสนอเนื้อหาของสำนักข่าวเดียวกันมีความแตกต่างกันมากเมื่ออยู่บน iPhone และ iPad

เริ่มกันที่ USA Today ที่มีบริการทั้งบน iPhone และบน iPad แต่จะเห็นได้ชัดเจนวิธีการนำเสนอนั้นต่างกันสิ้นเชิง จอใหญ่ก็ได้เปรียบอยู่หลายขุมจริงๆ

  • USA Today เวอร์ชั่น iPad

USA Today on iPadUSA Today เวอร์ชั่น iPad

  • USA Today เวอร์ชั่น iPhone
  • USA Today for iPhone (Display on iPad)

  • Reuters เวอร์ชั่น iPad

Reuters on iPad

  • Reuters เวอร์ชั่น iPhone
  • Reuters for iPhone (Display on iPad)

    จะเห็นความแตกต่างของการนำเสนอเนื้อหาบน iPad และ บน iPhone ได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าพอมาอยู่บนจอขนาดใหญ่แล้ว ทำให้หน้าตาของนหังสือพิมพ์ออนไลน์น่าอ่านมากขึ้น และให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับว่าเรากำลังอ่านหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษอยู่ เพราะการนำเสนอของหนังสือพิมพ์บนจอ iPad ยังคงกลิ่นอายของการจัดหน้าสไตล์ดั้งเดิมอยู่ เพราะในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ คุณจะได้เห็นหัวข้อข่าวต่างๆ รวดเร็วเพียงแค่ผ่านสายตาในแวบแรก เช่นนี้….

  • The Wall Street Journal เวอร์ชั่น iPad

The Wall Street Journal on iPad

  • The New York Times (Editor’s Choice) เวอร์ชั่น iPad

The New York Times (Editor's Choice) on iPad

  • BBC News เวอร์ชั่น iPad

BBC News on iPad

ทั้งนี้ ข้อดีของการนำเสนอข่าวบน iPad นั้นคือ มีความลึกในการนำเสนอมากกว่า แทนที่ผู้อ่านจะต้องนั่งพลิกเปลี่ยนหน้ากระดาษ แค่เอานิ้วจิ้มไปที่หัวข้อข่าว หรือคอลัมน์ หรือรูปภาพ แม้กระทั่งบนวีดีโอ เท่านั้นหน้าข่าวนั้นๆ ก็จะป็อบอัพขึ้นมาให้อ่านกันอย่างเต็มๆ ทันที ซึ่งบางค่ายก็ออกแบบมาให้เิปิดหน้าใหม่ แต่บางรายก็ใช้หน้าเดิม ซึ่งรูปแบบจะเหมือนการตั้งค่าเว็บ template นั่นแล จะเลือกวิธีการนำเสนอข้อมูลอย่าไรขึ้นกับสไตล์ของแต่ละสำนักข่าว

ข้อดีอย่างหนึ่งของบริการข่าวบน iPad คือ นอกจากจะเก็บเงินค่าแอพพลิเคชั่นได้แล้ว ยังสามารถขายโฆษณาได้ด้วย เนื่องจากโครงสร้างของการนำเสนอนั้นมีหน้าตาคล้ายหนังสือพิมพ์ นั่นคือ มีพื้นที่มากพอที่จะมีโฆษณาที่แลดูสวยงามได้ …

ลองมาดูการเิดินเนื้อหากันบ้าง พอจิ้มตรงเนื้อข่าว หน้าข่าวนั้นก็จะขึ้นมาให้อ่านแบบเต็มๆ กัน

iPad จึงเหมาะแก่การอ่านหนังสือพิมพ์อย่างมาก ….

  • BBBC News

  • Reuters

มาดูข่าวเฉพาะทางกันบ้าง นั่นคือ ข่าวหุ้นและการเงิน คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Bloomberg ซึ่งหน้าแรกของแอพพลิเคชั่น Bloomberg บน iPad นั้นออกแบบได้สวยงามน่าดูชมจริงๆ

Bloomberg on iPad

หน้าต่อมาของ Bloomberg ก็สวยใช่หยอก เนื่องพราะข่าวที่นำเสนอจะเป็นข่าวสารทางการเงินและข่าวหุ้นเป็นหลัก ฉะนั้น การนำเสนอข่าวประเภทนี้ให้อ่านเข้าใจง่ายย่อมหนีไม่พ้นการนำเสนอด้วยกราฟดังนี้

การนำเสนอของ Bloomberg บน iPad สวยมาก

มาดูที่สำนักข่าวเอพีกันบ้างดีกว่า…สำนักข่าว AP มาแปลกเพราะแทนที่จะนำเสนอในรูปแบบหนังสือพิมพ์ กลับนำเสนอแบบเหมือนโน้ตแปะไว้…พอจิ้มเข้าไปก็เจอกับข่าวและรูปสวยเมื่อดูบนจอ iPad

และเหมือนเช่นเคย แทบทุกเว็บข่าวจะสามารถให้เราแชร์เรื่องไปยังเพื่อนของเราที่ Facebook และ Twitter ได้อย่างสะดวกและง่ายดาย เพียงแต่คุณอาจจะต้องผูกบัญชีกันก่อนในครั้งแรกเท่านั้น ในครั้งต่อไปเพียงกดปุ่ม ‘share’ เท่านั้นก็ส่งได้เลย..

และอีกหนึ่งคุณภาพจากสำนักข่าว AP ก็คือ รูปภาพ…ภาพข่าวของที่นี่สวยดี ลองมาดูกัน ภาพข่าวของ AP บน iPad นั้นมีให้เลือกมากพอๆ กับบนเว็บ แต่เวลา display แล้วมันจะแลดูสวยกว่า (ไม่รู้คิดไปเองไหม) ลองดูเอาละกันนะคะ

สำหรับ ChinaDaily แม้จะมีบริการข่าวทั้งบน iPhone และ iPad แต่รูปแบบของการนำเสนอข่าวยังคงเหมือนกัน คือเน้น ข้อความมากกว่ารูปภาพ (นี่เท่ากับว่าไม่ได้ใช้ศักยภาพและประโยชน์จากเจ้า iPad ได้อย่างเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็นนะเนี่ย) ทำให้หน้าตาบริการข่าวแลดูเหมือนหน้าของทวิตเตอร์ไปซะงั้น….

ซึ่งข้อดีของ iPad (และ iPhone) คือ คุณสามารถขยายข้อความขึ้นมาจนใหญ่พอที่คุณจะอ่านสะดวก

นอกจากเว็บของสำนักข่าวเองแล้ว ปัจจุบันคนยังนิยมเสพข่าวจากผู้ให้บริการรวบรวมข่าว (News Aggregators) ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีผู้ใ้ห้บริการหลายรายมากขึ้นทั้งบน iPhone และบน iPad ดูเหมือนว่าเหล่า News Aggregators นี้จะไวกว่าสำนักข่าวเองเสียอีก…

นี่คือตัวอย่างบริการข่าวบน iPad ของบรรดา News Aggregators….

อีกราย…

News Aggregators อีกราย…แต่อ่านไ่ม่ออก…. จะเห็นว่าการจัดวางหน้านั้นจะคล้ายๆ กันหมด…ทั้งนี้ เชื่ออว่าในอนาคตคงจะได้เห็นการจัดหน้าที่ฉีกแนวออกไปบ้าง ตอนนี้อาจเพราะเป็นช่วงเริ่มต้น

และอีกราย… Daily News มีบริการทั้งบน  iPhone และบน  iPad

ข้อดีของการใช้บริการรวบรวมข่าวก็คือ คุณสามารถอ่านข่าวได้จากหนังสือพิมพ์มากกว่าหนึ่งฉบับ ประหยัดเวลา…

นอกจากข่าวแล้วภาพข่าวยังเป็นสินค้าหนึ่งที่สำนักข่าวสามารถทำเงินจากมันได้ และยิ่งได้อุปกรณ์ในการดูภาพสวยๆ อย่าง iPad ช่วยทำให้ภาพข่าวสวยขึ้นอย่างมาก…ไม่เชื่อลองดูด้วยตาคุณเอง…

ยังมีสำนักข่าวและ News Aggregators อีกหลายรายที่มีบริการบน iPhone แล้วแต่ัยังไม่มีเวอร์ชั่น iPad (ณ ตอนที่ทดสอบอยู่นี้ แต่ตอนนี้มีหลายรายแล้วทยอยมีเวอร์ชั่น iPad อาทิ Mashable เป็นต้น)

นี่คือตัวอย่างของบริการข่าวที่มีให้บริการแล้วบน iPhone แต่ยังไม่มีบน iPad เชื่อว่าเร็วๆ นี้คงได้เห็นอย่างแน่นอน…

หน้าตาของการนำเสนอข่าวบน iPad นั้นสวยงาม น่าอ่านจริงๆ เสียดายตรงที่ยังไม่สะดวกนักหากนำ iPad ไปใช้นอกสถานที่ที่ไม่มีสัญญาณ WiFi แต่ปัญหานั้นคงหมดไปเมื่อใช้รุ่น iPad 3G

สรุปคือ โดยส่วนตัวมองเว่า iPad นั้นเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเอาไว้บริโภคข้อมูลข่าวสาร แค่เฉพาะจากสื่อกระแสหลักอย่างเดียวที่เล่ามาให้ฟังนี้ก็ทำให้คุณเพลิดเพลินหายเข้าไปในจอเกือบสิบนิ้วนี้ได้นานทีเดียว โชคดีที่แบตเตอร์รี่ของ iPad นี้ใช้ได้นานกว่า iPhone ค่อนข้างมาก คืออยู่ได้ทั้งวันเต็มๆ สบายๆ แต่เวลาชาร์จต้องเสียเวลามากกว่าตอนชาร์จ iPhone  และสิ่งที่แตกต่างอีกอย่างคือ ตอนเสียบ iPad เข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อซิงคน์ข้อมูลจะไม่มีการชาร์จเกิดขึ้น ไม่เหมือน  iPhone แม้ว่า ณ ปัจจุบันเราจะยังไม่สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นตรงจาก iPad เราต้องดาวน์โหลดผ่านคอมพิวเตอร์ (ซึ่งความสะดวกจะน้อยลงไปบา้าง) แต่ก็เชื่อแน่ว่าหากใครที่ใช้ iPhone อยู่แล้วรับรองไม่หลงรัก หรือไม่ชอบ iPad เห็นจะเป็นการพูดไม่จริง …

“เกรซ ออฟ อาร์ท”….ผู้ผลิตอัญมณีไทย ใช้ไอทีเป็นตัวหนุน..เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

ใส่ความเห็น

ด้วยความเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่มีรายได้หลักจากการรับจ้างผลิตสินค้าอัญมณีตามความต้องการของลูกค้าจากต่างประเทศ ครั้นเมื่อสภาพตลาดอัญมณีโลกเริ่มเปลี่ยนและมีคู่แข่งที่เป็นผู้รับจ้างผลิตจากจีนเข้ามาแย่งลูกค้าด้วยกลยุทธ์ราคาที่ต่ำกว่า  ทำให้ผู้ประกอบการอัญมณีไทยอย่าง บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ท จำกัด ต้องปรับกระบวนท่าทางธุรกิจอย่างมากจนกระทั่งกลับมาแข่งขันในตลาดอัญมณีโลกได้อย่างสง่างามอีกครั้งหนึ่ง…ซึ่งเบื้อหลังของความสำเร็จครั้งนี้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที (IT: Information Technology) มีบทบาทอย่างมาก…..

จากคำบอกเล่าของผู้บริหารวัย 27 ปีอย่าง ธันยพร เชี่ยวหัตถ์พงษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและส่งออก ทายาทรุ่นสองที่เข้ามาบริหารกิจการพบว่า บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ท จำกัด ผู้ผลิตอัญมณีไทยขนาดกลางโดนแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงจนรายได้ถดถอยต่อเนื่อง ทำให้บริษัทต้องตัดสินใจปรับกลยุทธ์ธุรกิจจาการรับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า มาเป็นการออกแบบเครื่องประดับด้วยดีไซน์ที่โดดเด่นของตนเองแล้วนำไปเสนอขายให้ลูกค้าแทน ซึ่งด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวธันยพรเชื่อว่าจะสามารถช่วยให้บริษัทพอจะมียอดสั่งซื้อเข้ามาทดแทนส่วนที่หายไป

ไอที…ตัวช่วยสำคัญในกระบวนการผลิตที่เปลี่ยนไป

เมื่อปรับทิศธุรกิจจากการผลิตในลักษณะ Mass Production มาสู่การผลิตที่เน้นดีไซน์ (Design-based Production) ทำให้ประบวนการทำงานในขั้นตอนของการผลิตมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งเรื่องของขั้นตอนการทำงาน รวมถึงปริมาณของวัตถุดิบที่ต้องบริหารจัดการ ทำให้ธันยพรต้องมองหาตัวช่วยนั่นก็คือระบบไอที ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยให้ระบบการผลิตที่เป็นหัวใจของธุรกิจ บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ท จำกัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบไอทีที่เธอนำมาใช้ ก็คือ ระบบบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กรหรืออีอาร์พี (ERP: Enterprise Resource Planning) ระบบดังกล่าวได้เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ คือ ตั้งแต่การบริหารจัดการระบบสต็อกวัตถุดิบ ไปจนถึงระหว่างกระบวนการผลิตที่ขั้นตอนการผลิต

“ตอนแรกที่หันมาเน้นงานดีไซน์ เพียงแค่ต้องการให้บริษัทมีงาน มีคำสั่งซื้อเข้ามา หลังจากที่ลูกค้าเริ่มหนีไปหาคู่แข่งที่ราคาต่ำกว่า พอเรามาทำชิ้นงานดีไซน์ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากลูกค้าอีกกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ของเราเลย ยอดสั่งซื้อเข้าหลั่งไหลเข้ามาอย่างมากมาย จนเราคิดว่าเราต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในบริษัทด้วยการนำเอาระบบไอทีเข้ามาใช้”

เนื่องจากเดิมตอนที่บริษัทยังรับจ้างผลิตในปริมาณมาก แบบของเครื่องประดับจะมีไม่มาก ทำให้การเตรียมวัตถุดิบและการผลิตเป็นไปอย่างไม่ซับซ้อน คือ ผลิตปริมาณมากในจำนวนแบบที่น้อย อาทิ ผลิต 10 แบบๆ ละ 1,000 ชิ้น เปลี่ยนเป็นผลิตแบบละไม่กี่ชิ้น แต่จำนวนแบบเพิ่มขึ้นตามการออกแบบของดีไซน์เนอร์ อาทิ ออร์เดอร์ละ 30-40 แบบๆ ละ 5-6 ชิ้น ดังนั้น และในแต่ละแบบก็จะมีความซับซ้อนของชิ้นงานมากขึ้นมากเพราะเป็นงานดีไซน์ การทำงานของกระบวนการผลิตจึงเริ่มมีขั้นตอนมากขึ้นและมีความหลากหลายของวัตถุดิบมากขึ้น วัตถุดิบที่ใช้มีปริมาณของชนิดเพิ่มมากขึ้น

“อย่างเมื่อก่อนแหวนหนึ่งวงใช้พลอยอย่างมาก 10 เม็ด ออร์เดอร์เข้ามา 1,000 ชิ้น ก็เตรียมพลอยแค่ 10,000 เม็ด แต่พอเป็นงานแฟชั่น อาทิ กำไลบางชิ้นต้องใช้พลอยถึง 1,000 เม็ด คละกัน 10 สี 10 ไซน์ ช่างที่ต้องเตรียมวัตถุดิบ เดิมใช้วิธีเขียนลงกระดาษ แล้วไปเบิกของมาผลิต ก็ทำงานยากขึ้นและช้าลง”

ด้วยระบบ ERP บริษัทสามารถมีระบบบริหารทรัพยากรในการผลิตซึ่งก็คือวัตถุดิบที่อยู่มากกว่า 10,000 ชนิด ได้แก่เพชร พลอย และหิน ในขนาด สีและเฉด รูปร่าง และคุณภาพ ที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบอีอาร์พีนี้ช่วยให้ บริษัทสามารถเห็นสถานะของสต็อกแบบเรียลไทม์ ทำให้รู้ว่าวัตถุดิบตัวไหนที่ต้องสั่งเพิ่มบ้าง หรือต้องเตรียมสั่งเพิ่มเมื่อใด เมื่อระบบคอมพิวเตอร์คำนวณให้จากปริมาณออร์เดอร์ที่เข้ามา

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนเรามีวัตถุดิบชนิดใดบ้างเหลืออยู่ในสต็อกในปริมาณเท่าใด เราก็ไม่รู้เพราะว่าไม่ได้ตรวจสอบ เราก็สั่งเพิ่มเข้ามา ผิดบ้าง ถูกบ้าง ทำให้สต็อกวัตถุดิบของเราบางชนิดก็บวม บางชนิดก็ขาด ปัจจุบันระบบจะคำนวณให้เราทันทีเลยว่าเหลือสต็อกอย่างละเท่าไร เพราะทุกครั้งที่แต่และแผนกเบิกวัตถุดิบไประบบจะทำการตัดสต็อกให้ทันที”

นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังเข้ามาช่วยตรวจสอบอัตราการสูญเสียของวัตถุดิบในระหว่างการผลิต ซึ่งแต่เดิมนั้น ผู้บริหารไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่ามีปริมาณการสูญเสียวัตถุดิบต่อออร์เดอร์หนึ่งๆ เป็นจำนวนเท่าใด เนื่องจากข้อมูลทุกอย่างจดบันทึกลงกระดาษของแต่ละส่วนงานและไม่มีการตรวจสอบย้อนกลับและตรวจสอบข้ามส่วนงาน เนื่องจากต้องใช้เวลามาก  ปัจจุบันระบบอีอาร์พีนี้ช่วยให้ผู้บริการรู้ได้ทันทีว่าในแต่ละออร์เดอร์นั้นมีปริมาณการสูญเสียมากน้อยเพียงใด

โครงการ ECIT…โอกาสของ SME ไทยได้ใช้ไอที

อาจกล่าวได้ว่า หากไม่มี “โครงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยี สารสนเทศ” หรือ ECIT (Enhancing SMEs Competitiveness through IT) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ท จำกัดอาจจะยังไม่มีตัวช่วยสำคัญ ธันยพร ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเธอมองหาระบบไอทีที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มความสามารถในการผลิตของบริษัทแต่ทว่าระบบไอทีที่เธอพบนั้นมีราคาค่อนข้างแพงและมีความสามารถในการรองรับความยืดหยุ่นต่ำ เธอจึงยังไม่ตัดสินใจลงทุนระบบไอที จนกระทั่งเธอพบกับโครงการ ECIT ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ตอบโจทย์ธุรกิจได้ค่อนข้างครบเธอจึงตัดสินในเข้าร่วมโครงการเมื่อปีที่ผ่านมาโดยใช้ระบบอีอาร์พีที่ชื่อว่า Double M JeGe’++ 2 ซึ่งเป็นของบริษัทผู้ให้บริการคือ บริษัท ดับเบิล เอ็ม เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ จำกัด

อภิรักษ์ เชียงเจริญ กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ดับเบิล เอ็ม เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า โปรแกรม ERP สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับสามารถตอบสนองความต้องการในการบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้นได้กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งการบริหารทรัพยากรของบริษัท ลำดับการรับออร์เดอร์ลูกค้า การวางแผน และควบคุมกระบวนการผลิต การประเมินราคา การคำนวณวัตถุดิบก่อนผลิต ไปจนถึงการส่งมอบและติดตามผล ที่สำคัญจะทำให้ผู้ผลิตสามารถควบคุมวัตถุดิบสูญเสียที่ใช้ในการผลิตได้อย่าง แม่นยำ ควบคุมประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างถูกต้อง

คุณสมบัติเด่นของโปรแกรม Double M JeGe’++ 2 คือ ใช้งานง่ายด้วยเมนูในการเรียกใช้งานได้ 2 ภาษา คือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ราคาเหมาะสมซึ่งถูกกว่าซอฟต์แวร์แบบเดียวกับจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ผลิตอัญมณีไทยกล้าลงทุน

บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ท จำกัดเป็นหนึ่งในเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จึงสามารถใช้บริการซอฟต์แวร์ของไทยที่คัดเลือกโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้สามารถลดต้นทุนด้านลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ลดการจัดซื้อเครื่องแม่ข่าย ลดการจ้างพนักงานดูแลด้านระบบไอที ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนบาท ที่ผ่านมาบริษัทสามารถใช้ซอฟต์แวร์ได้ฟรีในระยะเวลา 1 ปี โดยในปีต่อไปจะเสียค่าเช่ารายเดือนพร้อมบำรุงรักษาเองเพราะระบบ ERP ภายใต้โครงการ ECIT นั้นใช้แนวความคิดการใช้ซอฟต์แวร์ผ่านระบบ ASP (Application Service Provider) หรือการใช้โปรแกรมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ธันยพรกล่าวว่า โครงการ ECIT เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์อย่างมาก ซึ่งในปีนี้บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ท จำกัดจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าเช่าใช้ซอฟต์แวร์และค่าดูแลระบบเองก็ตาม เธอบอกว่านับว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนอย่างมากเพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้นำมาซึ่งประสิทธิภาพของการผลิตที่ดีอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบัน Grace of Art ไม่เพียงแต่ได้ออร์เดอร์จากลูกค้าในต่างประเทศกลับมาอย่างล้นหลาม แต่ยังได้เปิดตลาดใหม่ในประเทศด้วยแบรนด์สินค้าของตนเอง ได้แก่ Sandy และ Ta Tiara อีกด้วย

ธันยพร กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทอยู่ที่การส่งออกอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ และรายได้จากตลาดในประเทศ 20 เปอร์เซ็นต์ และรายได้โดยรวมมีการเติบโตราว 15-20 เปอร์เซ็นต์ ต่อเนื่องมา 2 ปีหลังจากที่บริษัทเปลี่ยนกลยุทธ์มาเน้นงานดีไซน์ เธอยอมรับว่าหากไม่มีระบบไอทีซึ่งเป็นผู้ช่วยสำคัญแล้วเธอคงไม่สามารถฝ่าวิกฤติธุรกิจมาได้อย่างเช่นในปัจจุบัน……