คงไม่ปฏิเสธว่าในบรรดาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในประเทศไทยจำนวนมากยังไม่ได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอซีที มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจอย่างเต็มที่มากนัก ทั้งนี้ เหตุผลหลักประการหนึ่งก็คือ ข้อจำกัดเรื่องเงินทุน เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาหากบริษัทใดต้องการใช้ระบบไอทีนั้นจะต้องลงทุนซื้อระบบมาติดตั้งเองทั้งหมด ข้อจำกัดนี้กำลงถูกทำลายลงโดยเทคโนโลยีที่เรียกว่า คลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing)

ทั้งนี้เนื่องจากเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งนั้นเกิดจากแนวคิดของการนำระบบซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นต่างๆ ไว้ที่เครื่องแม่ข่ายกลาง จากนั้นก็อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถล็อกอินเข้ามาในระบบเพื่อใช้งานระบบซอฟต์แวร์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้จากที่บริษัทของตน ซึ่งคลาวด์ คอมพิวติ้ง ยิ่งเป็นที่สนใจอย่างมากในแวดวงธุรกิจทั่วโลกในปีที่ผ่านมา เพราะคลาวด์ คอมพิวติ้ง คือ แพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้ธุรกิจที่ต้องการใช้งานระบบไอทีได้มีทางเลือกในการเช่าใช้ระบบแทนที่จะต้องลงทุนซื้อระบบ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ

นอกจากนี้ คลาวด์ คอมพิวติ้ง ยังช่วยให้ผู้ประกอบการที่แม้จะไม่เคยมีระบบไอทีใช้มาก่อนเลยก็สามารถเริ่มต้นใช้งานระบบไอทีได้ในระยะเวลาอันสั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมี มีเพียงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อที่จะเชื่อมโยงเข้าไปสู่ระบบแอพพลิเคชั่นของตนที่ฝากไว้บนคลาวด์ คอมพิวติ้งเท่านั้น

และหลังจากเริ่มต้นใช้งานแล้ว คลาวด์ คอมพิวติ้งยังช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจไปตามปกติ โดยมีระบบไอทีเป็นตัวช่วยหลักโดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายเริ่มต้นเท่านั้น แต่ผู้ใช้ยังไม่ต้องกังวลถึงภาระค่าดูแลระบบ ไม่ต้องกังวลเรื่องการพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ และการอัพเกรดระบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะเรื่องเหล่านี้จะถูกยกให้เป็นภาระของผู้ให้บริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing Services) ซึ่งรายละเอียดของบริการจะมีความแตกต่างกันขึ้นกับความต้องการใช้งานผู้ใช้ว่าต้องการใช้งานระบบซอฟต์แวร์ระบบใดบ้าง

ทั้งนี้ ด้วยบริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง เป็นการให้บริการแบบเช่าใช้ระบบซอฟต์แวร์ ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเลือกใช้บริการเฉพาะระบบซอฟต์แวร์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกับการประกอบธุรกิจของตน เป็นรายประเภทและรายโมดุลของซอฟต์แวร์ไป ค่าใช้บริการก็จะแปรผันตามประเภทและปริมาณของระบบซอฟต์แวร์ที่เช่าใช้ คือใช้เท่าไหนจ่ายเท่านั้น (Pay per Use) โดยผู้ใช้จะต้องชำระค่าใช้บริการซอฟต์แวร์แบบรายเดือน หรือรายปี

เมื่อลักษณะการให้บริการใช้ระบบซอฟต์แวร์บนแพลตฟอร์มของคลาวด์ คอมพิวติ้งเป็นดังนี้ ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดควบคู่กันกับ คลาวด์ คอมพิวติ้ง ก็คือรูปแบบบริการซอฟต์แวร์แบบใหม่ที่ไม่ใช่การขายขาด แต่เป็นการให้เช่าใช้ซอฟต์แวร์ หรือที่เรียกกันว่า Software as a Service (SaaS) ซึ่งตามโมเดลนี้ซอฟต์แวร์จะเปลี่ยนจาก “สินค้า” ที่ต้องถูกซื้อ เป็น “บริการ” ที่ต้องจ่ายค่าใช้บริการตามที่ใช้งานจริง SaaS เป็นรูปแบบธุรกิจการให้บริการซอฟต์แวร์ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งทั้ง SaaS และคลาวด์ คอมพิวติ้ง นั้นส่งผลดีต่อทั้งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และผู้ใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นโมดูลๆ (Module By Module) เพื่อให้บริการลูกค้าเฉพาะบางโมดูลได้ โดยที่ไม่ต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งระบบ ซึ่งช่วยลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ในขณะที่ผู้ใช้บริการก็สามารถเลือกใช้เฉพาะซอฟต์แวร์โมดูลที่ตัวเองต้องการโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อซอฟต์แวร์ทั้งระบบ ที่สำคัญลูกค้าไม่ต้อง “ซื้อ” แต่เปลี่ยนมาจ่าย “ค่าเช่าใช้” ซอฟต์แวร์โมดูลที่ตนเองใช้งานเท่านั้น

ปัจจุบันมีบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จำนวนมากเริ่มให้บริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง ให้กับลูกค้าในประเทศไทย อาทิ ออราเคิล ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) และซันไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทยจำนวนมากหันมาให้บริการระบบซอฟต์แวร์ให้ลูกค้าผ่านรูปแบบ SaaS มากขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวลนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ธุรกิจไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่จะสามารถเข้าถึงระบบไอทีขนาดใหญ่และระบบซอฟต์แวร์ที่มีความจำเป็นต้องใช้งานได้ภายใต้ต้นทุนที่ลดลง เชื่อแน่ว่าในปีนี้จะมีการขยายตัวของบริการคลาวด์ คอมพิวติ้งและ SaaS อย่างมาก และอานิสงค์ของการเติบโตดังกล่าวจะตกเป็นของเอสเอ็มอีไทยนั่นเอง…